วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สายพันธุ์นก

นกยางโทนใหญ่ เป็นนกลุยน้ำขนาดใหญ่ในวงศ์นกกระสา มีขนสีขาวตลอดตัว คอยาว มีลักษณะคล้ายนกยางโทนน้อย แต่ปากจะยาวกว่า หัวไม่กลมเหมือนนกยางโทนน้อย

ลักษณะทั่วไป
นกยางโทนใหญ่เป็นนกขนาดใหญ่มีขนาดความยาวลำตัวประมาณ 90 เซนติเมตร สีขาวตลอดตัว คอยาว ปากยาว แหลมมีสีเหลือง ตาเหลือง ไม่มีเปีย ขาและนิ้วเท้าดำ ในฤดูผสมพันธุ์มีขนประดับเป็นเส้นยาว ๆ อยู่บนหลังและยาวเลยหางออกไปเล็กน้อย นกยางโทนทั้งตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน ในฤดูผสมพันธ์ปากจะมีสีดำ

ถิ่นอาศัย
ในประเทศไทย นกยางโทนใหญ่พบได้ในทุกภาคของประเทศ ตามหนองน้ำ ที่ราบน้ำท่วมถึง และตามท้องนาในฤดูฝน เป็นนกประจำถิ่นที่พบได้บ่อยและมีบางส่วนเป็นนกอพยพ

พฤติกรรม
นกยางโทนใหญ่หากินตามที่ราบที่น้ำท่วมถึง หนองบึง ทะเลสาบ และตามป่าชายเลน กินสัตว์น้ำ กบ เขียด แมลง และสัตว์ขนาดเล็กอื่นเป็นอาหาร นกยางโทนใหญ่ผสมพันธุ์ในฤดูฝนและอยู่กันเป็นฝูงชอบทำรังรวมกันอยู่บนต้นไม้ต้นเดียวกันกับนกยางชนิดอื่น รังทำด้วยกิ่งไม้แห้งๆ เล็กๆ ขัดสานกัน มีแอ่งตรงกลางสำหรับ เพศผู้และเพศเมียช่วยกันทำรัง กกไข่ และเลี้ยงดูลูก วางไข่คราวละ 3-4 ฟอง ระยะฟักไข่ 25-26 วัน

สถานะการอนุรักษ์
นกยางโทนใหญ่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535

อ้างอิง
^ 1.0 1.1 1.2 นกยางโทนใหญ่ องค์การสวนสัตว์
^ หมอบุญส่ง เลขะกุล นกเมืองไทย ISBN 978-974-619-181-4
BirdLife International (BLI) (2008).





นกจาบคาหัวเขียว (อังกฤษ: Blue-tailed bee-eater) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Merops philippinus เป็นนกในตระกูล Meropidae จัดเป็นนกอพยพชนิดหนึ่ง มีแหล่งผสมพันธุ์อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บางครั้งอาจถูกจัดให้อยู่ในสปีชีส์เดียวกับนกจาบคาแก้มฟ้า (Merops persicus)

นกชนิดนี้มีรูปร่างเพรียว มีสีสันสวยงาม โดยจะมีสีเขียวเด่นเป็นพิเศษ บริเวณใบหน้ามีแต้มสีฟ้าเล็กๆ และมีแถบยาวสีดำอยู่ตรงดวงตา ขนที่คอเป็นสีเหลืองและสีน้ำตาล หางเป็นสีห้า และจงอยปากสีดำ สามารถเจริญเติบโตได้ยาว 23-26 เซนติเมตร โดยรวมความยาวของขนหางตรงกลางสองเส้นที่ยาวกว่าบริเวณอื่นด้วย

นกจาบคาหัวเขียวมีแหล่งผสมพันธุ์ในพื้นที่ชนบทกึ่งเขตร้อน อย่างเช่นในไร่ สวน นาข้าว หรือสวนสาธารณะ มักพบได้บ่อยครั้งบริเวณใกล้กับแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กินแมลงชนิดต่างๆเป็นอาหารเหมือนนกจาบคาชนิดอื่น โดยเฉพาะผึ้ง ต่อ และแตน โดยจะโผลบินพุ่งออกจากที่พักเกาะไปจับเหยื่อกลางอากาศ เหยื่อจะถูกจับกลับไปที่พักเกาะ แล้วใช้จงอยปากจิกเหยื่อจนตายและเปลือกแข็งที่ห่อหุ้มร่างกายแตกออก สำหรับนกจาบคาชนิดนี้ พบว่าเหยื่อที่ล่ามีทั้งผึ้งและแมลงปอในปริมาณที่มากพอๆกัน[1]

นกจาบคาหัวเขียวชอบสร้างรังอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มใหญ่ตามริมฝั่งแหล่งน้ำที่เป็นทรายหรือพื้นที่ราบเปิดโล่ง รังมีลักษณะเป็นเหมือนอุโมงค์ค่อนข้างยาว นกชนิดนี้จะวางไข่ทรงกลมสีขาวครั้งละ 5-7 ฟอง ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะเฝ้าดูแลไข่ด้วยกัน นอกจากนี้ เวลาออกหากินหรือพักเกาะตามที่สูง ก็มักจะอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเช่นกัน

       
 
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร หรือ นกตาพอง (อังกฤษ: White-eyed River-Martin, ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pseudochelidon sirintarae หรือ Eurochelidon sirintarae) เป็นนกจับคอนหนึ่งในสองชนิดของสกุลนกนางแอ่นแม่น้ำในวงศ์นกนางแอ่น พบบริเวณบึงบอระเพ็ดในช่วงฤดูหนาวเพียงแห่งเดียวในโลก แต่อาจสูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นนกนางแอ่นขนาดกลาง มีสีดำออกเขียวเหลือบ ตะโพกขาว หางมีขนคู่กลางมีแกนยื่นออกมาเป็นเส้นเรียวแผ่ตรงปลาย วงรอบตาสีขาวหนา ปากสีเหลืองสดออกเขียว ทั้งสองเพศมีลักษณะคล้ายกัน แต่นกวัยอ่อนไม่ขนหางคู่กลางมีแกนยื่นออกมา สีขนออกสีน้ำตาลมากกว่านกโตเต็มวัย พฤติกรรมเป็นที่ทราบน้อยมากรวมถึงแหล่งผสมพันธุ์วางไข่ คาดว่าเหมือนนกนางแอ่นชนิดอื่นที่บินจับแมลงกินกลางอากาศ และเกาะคอนนอนตามพืชน้ำในฤดูหนาว

อนุกรมวิธาน
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นสมาชิกหนึ่งในสองของนกนางแอ่นแม่น้ำในวงศ์ย่อPseudochelidoninae อีกชนิดหนึ่งคือนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา (Pseudochelidon eurystomina) ที่พบในลุ่มน้ำคองโกในทวีปแอฟริกา ทั้งสองชนิดมีคุณลักษณะพิเศษที่แยกนกทั้งสองชนิดออกจากนกนางแอ่นชนิดอื่น ประกอบไปด้วย เท้าและขาที่แข็งแรง และปากอวบ จากลักษณะที่ต่างจากนกนางแอ่นชนิดอื่นและแยกไกลกันทางภูมิศาสตร์ของนกนางแอ่นทั้งสองชนิดแสดงว่านกเหล่านี้เป็นประชากรส่วนที่เหลือของกลุ่มสปีชีส์ที่แยกออกจากเชื้อสายหลักของนกนางแอ่นก่อนที่จะมีการวิวัฒนาการ
ชื่อสกุล Pseudochelidon (Hartlaub, 1861) มาจากภาษากรีกโบราณ คำหน้า ψευδο/pseudo แปลว่า "ปลอม" และคำหลัง χελιδον/chelidôn แปลว่า "นกนางแอ่น" และชื่อสปีชีส์ได้รับพระราชทานพระนามของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดามาตั้งชื่อนกชนิดนี้
ในปี พ.ศ. 2515 มีการเสนอว่านกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรมีลักษณะต่างจากนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาอย่างเพียงพอที่จะแยกออกเป็นสกุล Eurochelidon[5] แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมนักจากผู้แต่งคนอื่นๆในภายหลัง อย่างไรก็ตามองค์การชีวปักษานานาชาติ (BirdLife International)ได้ใช้เป็นชื่อสกุล Eurochelidon ในปัจจุบัน

การค้นพบ
ในปี พ.ศ. 2510 นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ปัจจุบันคือสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย) ได้ทำการดักจับนกนางแอ่นจากบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อทำการศึกษาเรื่องการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์ต่างๆในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ และในระหว่างเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 กิตติ ทองลงยา ได้ค้นพบนกตัวหนึ่งที่มีรูปร่างลักษณะแตกต่างจากนกนางแอ่นชนิดอื่นที่จับได้ นกตัวนี้มีขนาดใหญ่กว่านกนางแอ่นทั่วไปมาก ขนเป็นสีดำคล้ำ ตาขาวและใหญ่ ปากและสะโพกสีขาว หางกลมมน ขนหางคู่กลางมีแกนยื่นออกมาอย่างชัดเจน

 ลักษณะ
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นนกนางแอ่นขนาดกลาง มีความยาวจากปากจดหางประมาณ 12 -13 ซม. ความยาวเฉพาะหาง มากกว่า 9 ซม. ลำตัวสีดำสนิท มีเหลือบสีน้ำเงิน-เขียวเข้มบางส่วน บริเวณตะโพกสีขาวแยกบริเวณหลังสีดำเหลือบสีน้ำเงิน-เขียวเข้มและตอนบนของหางสีเดียวกันออกจากกัน หัวสีเข้มกว่าหลัง บริเวณคางมีกระจุกขนสีดำคล้ายกำมะหยี่ไปถึงหลังส่วนบน ปีกสีดำ หางสีดำเหลือบเขียว ขนหางมนกลมแต่ขนคู่กลางมีแกนยื่นออกมาเป็นเส้นเรียวยาวประมาณ 10 ซม.ปลายแผ่เล็กน้อย มองเห็นได้ชัดเจน
ชาวบ้านในบริเวณที่ค้นพบเรียกนกชนิดนี้ว่า นกตาพองเนื่องจากลักษณะของตาที่มีวงขาวล้อมรอบ ขอบตาขาวเด่นชัด นัยน์ตาและม่านตาสีขาวอมชมพูเรื่อๆ ปากกว้างสีเหลืองสดแกมเขียว มีแต้มสีดำรูปโค้งที่ปากบน ขาและเท้าใหญ่แข็งแรงมีสีชมพู ไม่ส่งเสียงร้องในฤดูหนาว และเสียงร้องในช่วงผสมพันธุ์ยังไม่ทราบ
ทั้งสองเพศมีลักษณะคล้ายกัน นกวัยอ่อนมีหัวสีน้ำตาล คอแกมขาว ลำตัวออกสีน้ำตาลมากกว่านกโตเต็มวัย ไม่มีขนเส้นเรียวเล็กที่ปลายหาง นกวัยอ่อนจะผลัดขนในเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์

 อุปนิสัย
แหล่งผสมพันธุ์วางไข่ของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรนั้นยังไม่มีการค้นพบ จึงไม่ทราบในชีววิทยาการขยายพันธุ์ของนกเลย แต่คาดกันว่ามันน่าจะคล้ายกับนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาโดยทำรังตามโพรงบริเวณตลิ่งทรายริมแม่น้ำ วางไข่ชุดละ 2-3 ฟอง อาจเป็นในเดือนเมษายน-พฤษภาคมก่อนฝนจากมรสุมจะทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้น แต่ความแตกต่างทางกายวิภาคของรูปร่างเท้าและขาทำให้รู้ว่ามันไม่สามารถขุดโพรงได้ ในฤดูหนาวพบว่ามันเกาะนอนอยู่ในฝูงนกนางแอ่นชนิดอื่นๆที่เกาะอยู่ตามใบอ้อและใบสนุ่น บางครั้งก็พบอยู่ในกลุ่มนกกระจาบและนกจาบปีกอ่อน
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรกินแมลงเป็นอาหารเหมือนกับนกนางแอ่นชนิดอื่นรวมถึงพวกด้วงด้วย มันจับเหยื่อโดยการโฉบจับในอากาศ จากขนาดและโครงสร้างปากที่พิเศษของนก มันอาจกินแมลงที่ตัวใหญ่กว่านกนางแอ่นชนิดอื่น[4] นกชนิดนี้มีลักษณะการบินที่ บินเรื่อย ลอยตัว ไม่รวดเร็วเท่านกนางแอ่นชนิดอื่น และก็เหมือนกับนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาที่ไม่ค่อยมีพฤติกรรมเกาะคอน จากรูปทรงเท้าที่ผิดไปจากนกนางแอ่นชนิดอื่นและการที่พบโคลนที่เท้าในตัวอย่างหนึ่งของนกชนิดนี้แสดงว่านกชนิดนี้อาจจะอยู่บนพื้นมากกว่าเกาะคอน
แหล่งที่อยู่อาศัยและการแพร่กระจาย
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรพบในบริเวณบึงบอระเพ็ด เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนมีนาคม คาดว่าถิ่นอาศัยในช่วงฤดูหนาวจะเป็นบริเวณใกล้เคียงกับแหล่งน้ำจืดที่เปิดโล่งเพื่อสำหรับหาอาหาร และมีอ้อและพืชน้ำสำหรับจับคอนนอนในเวลากลางคืน นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรอาจเป็นนกอพยพ แต่พื้นที่แหล่งผสมพันธุ์วางไข่ยังไม่เป็นที่ทราบ อาจเป็นหุบเขาที่มีแม่น้ำไหลผ่านอย่างภาคเหนือของประเทศไทยหรือทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน อย่างไรก็ตามมีการอ้างว่าลักษณะของนกชนิดนี้ในม้วนภาพเขียนจีนนั้นคล้ายกับนกแอ่นทุ่งใหญ่ (Glareola maldivarum)  มีการเสนอว่าเป็นไปได้ที่ประเทศกัมพูชาและพม่าเป็นถิ่นอาศัยของนกชนิดนี้ และยังมีข้อสงสัยว่ามันจะเป็นนกอพยพเสียทั้งหมดหรือไม่
ถ้าถิ่นอาศัยของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเหมือนกับนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา ถิ่นอาศัยจะเป็นป่าในหุบเขาที่มีแม่น้ำขนาดใหญ่ไหลผ่าน มีตลิ่งทรายและเกาะสำหรับทำรัง และมีป่าไม้มากพอที่นกจะสามารถจับแมลงกินได้

สถานภาพในปัจจุบัน
อนุสาวรีย์นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรที่บึงบอระเพ็ดนกเจ้าฟ้าหญิงสิริธรเป็นนกเฉพาะถิ่น (endermic) ที่พบได้เพียงแห่งเดียวในโลกคือที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ จากรายงานการพบเห็นในปี พ.ศ.2515, 2520 และ 2523 และก็ไม่มีการพบเห็นอีกเลยจนปัจจุบัน  แม้จะมีรายงานว่าพบนกในปี พ.ศ. 2529 แต่ก็ไม่ได้รับการยืนยัน สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ(IUCN) และ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (2540) จัดนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์อย่างยิ่ง  มีการประมาณจำนวนของนกชนิดนี้ว่าลดลงหรือจะลดลงถึง 80% ภายในสามรุ่น IUCN จะไม่พิจารณาว่านกชนิดสูญพันธุ์จนกว่าได้ดำเนินการสำรวจเป้าหมายครอบคลุมแล้ว แต่นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรอาจจะสูญพันธุ์ไปแล้วจากประเทศไทยหรือจากโลก
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรจัดอยู่ในบัญชีที่ 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ (CITES)  นอกจากนี้นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรยังจัดเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 อีกด้วย

สาเหตุของการใกล้สูญพันธุ์
ประชากรในธรรมชาติของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเชื่อว่ามีอยู่น้อยมาก เพราะเป็นนกชนิดโบราณที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน แม้นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรจะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย แต่ก็ยังถูกจับไปพร้อมๆกับนกนางแอ่นชนิดอื่นในฤดูหนาวของแต่ละปีเพื่อขายเป็นอาหารหรือเป็นนกปล่อยทำบุญในพุทธศาสนา และหลังจากการค้นพบ มีการดักจับนกได้ถึงเกือบ 120 ตัวเพื่อขายให้กับผู้อำนวยการสถานีประมงนครสวรรค์ และแน่นอนว่าไม่สามารถรักษาชีวิตของนกเหล่านั้นไว้ได้[11] และด้วยเพราะมีจำนวนประชากรเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆทำให้ไม่สามารถพบเห็นได้ง่ายนัก[2] แต่อาจมีรายงานที่ไม่ยืนยันว่าพบเห็นนกในประเทศกัมพูชาในปี พ.ศ. 2547
มีการลดจำนวนลงอย่างมากของประชากรนกนางแอ่นในบึงบอระเพ็ดจากหนึ่งแสนตัวในราวปี พ.ศ. 2513 เหลือเพียง 8,000 ตัวที่นับได้ในฤดูหนาวของปี พ.ศ. 2523-2524 แม้ว่าจะยังไม่แน่ใจ แต่เหตุการณ์นี้คือการแสดงถึงการลดลงหรือเปลี่ยนถิ่นเนื่องมาจากการถูกรบกวน[4] สาเหตุอื่นที่ทำให้นกชนิดนี้ลดจำนวนลงประกอบด้วย จากการรบกวนบริเวณตลิ่งทรายแม่น้ำ การสร้างเขื่อนในพื้นที่ต้นน้ำ การแก้ไขอุทกภัย การประมง การตัดไม้ทำลายป่า และการเปลี่ยนแปลงถิ่นอาศัยเพื่อการเกษตร[13] อย่างน้อยนกนางแอ่นก็ยังชอบจับคอนตามพืชน้ำในบึงบอระเพ็ดมากกว่าตามไร่อ้อย แต่ก็ไม่ค้นพบนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรในฝูงนกจับคอนเหล่านั้น

การเผยแพร่ในสื่ออื่น
มีการจัดพิมพ์แสตมป์รูปนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรจำนวน 3,000,000 ดวงร่วมกับนกชนิดอื่นอีก 3 ชนิดคือนกแซวสวรรค์ขาว-แดง นกพญาปากกว้างหางยาว และนกติตสุลต่านในชุดนกไทย ออกจำหน่ายเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2518 แสตมป์มีราคา 75 สตางค์[18] และในปี พ.ศ. 2517 มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกการอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่าเป็นเหรียญทองคำมีราคาหน้าเหรียญ 5,000 บาทซึ่งด้านหนึ่งเป็นรูปรูปนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรอยู่ในท่าบิน



นกกระแตผีใหญ่ เป็นนกที่มีพฤติกรรม หากินยามค่ำคืน และจะนอนในเวลากลางวัน ที่พื้นดินที่มีหญ้าเป็นที่กำบังกาย

ช่วงที่พบเจอ
                เป็นเวลาเช้าประมาณ 07. 00 น. ของวันที่ 21 สิงหาคม 2553 นกยังขาเลอะดินอยู่ แสดงว่าเพิ่งจะเสร็จ จากการเดินย่ำโคลนหาอาหาร แล้วขึ้นมาพักบนพื้นร่อง จากการเฝ้าดูพฤติกรรม พบว่า ช่วงเช้า นกจะเดินไปมา และหยุดแต่งตัว ไซ้ขนเป็นช่วงๆ หลังจากนั้นมันก็จะ คุกเข่านอนพัก มันเดินย่ำหาอาหารตาม ริมคลองด้วย อาหารที่เห็นก็คือปูตัวเล็กๆ  บินวนรอบ 360 องศา และมาลงตรงเนินกลางน้ำ ผมค่อยๆเคลื่อนรถเข้าอย่างใจเย็น

นกกระแตผีใหญ่
 ทราบว่าถิ่นที่อยู่จริงๆ อยู่ในเกาะแก่ง ตามลำน้ำโขง จ.หนองคาย และ จ.อุบลราชธานี เคยมีคนพบและถ่ายภาพได้ในบริเวณนั้นได้  จังหวัดเพชรบุรี เป็นดินแดนที่วิเศษสุด สำหรับผู้ที่มีความสนใจเรื่องนก ทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ นกที่หายากๆที่อื่นๆ มักมีการพบที่นี่เป็นประจำ




นกยูงไทย หรือ นกยูงสีเขียว (อังกฤษ: Green Peafow, ชื่อวิทยาศาสตร์: Pavo muticus มาจากภาษาละติน Pavo, นกยูง; muticus, เชื่อมต่อ หรือ ตัดทอน) [1] เป็นไก่ฟ้าขนาดใหญ่ที่พบในป่าเขตร้อนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นญาติใกล้ชิดกับนกยูงอินเดียหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่านกยูงสีฟ้า (ชื่อวิทยาศาสตร์: Pavo cristatus) ที่ส่วนมากพบในอนุทวีปอินเดีย

ลักษณะ
                หัวและคอส่วนบนของนกยูงตัวเมียนกยูงไทยเป็นนกจำพวกไก่ฟ้าขนาดใหญ่ นกตัวผู้อาจยาวได้ถึง 3 เมตรเมื่อรวมหาง อาจหนักถึง 5 กก. ตัวเมียยาว 1.1 เมตร หนักประมาณ 1.1 กก. ช่วงปีกกว้าง 1.2 เมตร นกตัวผู้ยังมีหงอนเป็นพู่สูงและมีแผ่นหนังที่หน้าสีฟ้าสลับสีเหลืองเห็นได้ ชัดเจน ขนลำตัวมีสีเขียวเป็นประกายแววเหลือบสีน้ำเงินบนปีกและสีทองแดงทางด้านข้าง ลำตัวดูเป็นลายเกล็ดแพรวพราวไปทั้งตัว ขนปีกบินสีน้ำตาลแดง ขนคลุมโคนหางยื่นยาวออกมาก มีสีเขียวและมีจุดดวงตากลมที่ขลิบด้วยสีฟ้าและสีน้ำเงิน นกตัวเมียลักษณะโดยทั่วไปคล้ายนกตัวผู้ แต่ขนสีเหลือบเขียวน้อยกว่าและมีประสีน้ำตาลเหลืองอยู่ทั่วไป ขนคลุมโคนหางไม่ยื่นยาวดังเช่นในนกตัวผู้ นกยูงไทยบินได้เก่งกว่านกยูงอินเดีย
นกตัวผู้ของสปีชีส์ย่อย imperator และ spicifer มีสีเขียวออกฟ้า ชนิดย่อยแรกมีสีเขียวเหลือบที่อก คอ ปีกด้านใน และด้านนอกขนปีกกลาง ชนิดหลังสีทึบกว่า อกและคอสีออกฟ้ากว่า มีสีดำมากกว่าตรงปีกด้านใน และด้านนอกขนปีกกลาง ขณะที่ชนิดย่อย muticus มีขนสีเขียวทองมีสีฟ้าเล็กน้อยบนคอและอก ขนอกและคออาจเปลี่ยนได้หลากหลายขึ้นอยู่กับอายุและเพศ

 การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย
นกยูงมีการกระจายพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีนจนถึงลาว ไทย เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซียตะวันตก และเกาะชวา ในประเทศไทยพบในภาคเหนือและภาคตะวันตก
นกยูงไทยพบได้ในถิ่นอาศัยหลากหลายไม่ว่าจะเป็นป่าเก่าหรือป่าปลูกในระดับความสูงไม่เกิน 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ทั้งในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ทั้งพบได้ในป่าไผ่ ทุ่งหญ้า เช่นกัน ในเวียดนามพบนกอาศัยอยู่ป่าแล้งผลัดใบใกล้แหล่งน้ำและห่างจากการรบกวนของมนุษย์ แหล่งน้ำนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญของถิ่นอาศัย

 การจัดจำแนก
ตามคำแนะนำของตัวแทนผู้ก่อตัวสมาคมไก่ฟ้าโลกและนักวิหควิทยา เชออาน เดลลากูร์ (Jean Delacour) แบ่งออกเป็น 3 ชนิดย่อย

  • P. m. muticus (ชนิดย่อยที่ได้รับการตั้งชื่อตามสปีชีส์) พบในชวา มาเลเซียตะวันตกจากทางเหนือไปทางใต้จนถึงรัฐเกดะห์
  • P. m. imperator พบในพม่าจนถึงไทย ตอนใต้ของจีนและอินโดจีน
·        P. m. spicifer พบทางตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า ตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียและบังคลาเทศ
ผู้แต่งบางคนเสนอให้ประชากรที่พบในยูนานแยกเป็นอีกชนิดย่อยหนึ่ง ปัจจุบันไม่พบนกยูงไทยในสุมาตราและบอร์เนียวแล้ว และบันทึกการพบทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียก็เป็นบันทึกเมื่อนานมาแล้วปัจจุบันอาจสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่แล้วเช่นกัน


พฤติกรรม
นกยูงตัวเมียออกหากินตามหาดทรายและสันทรายริมลำธารในตอนเช้าตรู่จนกระทั่งถึง ตอนบ่ายกินทั้งเมล็ดพืชและสัตว์เล็กๆ แล้วจึงบินกลับมาเกาะนอนอยู่บนยอดไม้สูง ปกติอยู่เป็นฝูงเล็กๆ 2-6 ตัว ยกเว้นในบางบริเวณเช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี พบนกยูงอยู่รวมกันเป็นฝูงถึง 10 ตัว

การสืบพันธุ์
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในระหว่างเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนเมษายน ขนคลุมโคนหางของนกตัวผู้จะเจริญเต็มที่ในเดือนตุลาคม และจะผลัดขนนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ การเกี้ยวพาราสีกันของนกยูงเริ่มเมื่อนกยูงตัวเมียหากินเข้าไปดินแดนของนก ตัวผู้ ตัวผู้จะร่วมเข้าไปหากินในฝูงด้วย และแสดงการรำแพนหาง กางปีกสองข้างออกพยุงลำตัว ชูคอขึ้นแล้วย่างก้าวเดินหมุนตัวไปรอบ ๆ ตัวเมีย การรำแพนหางจะใช้เวลาประมาณ 5 - 10 นาที หากตัวเมียพร้อมที่จะผสมพันธุ์จะย่อตัวลงให้ตัวผู้ขึ้นผสมพันธุ์ นกยูงทำรังบนพื้นดินตามที่โล่งหรือตามซุ้มกอพืช อาจมีหญ้าหรือใบไม้แห้งมารองรัง วางไข่ครั้งละ 3 - 6 ฟอง เริ่มฟักไข่หลังจากออกไข่ฟองสุดท้ายแล้ว โดยใช้เวลาฟักทั้งสิ้น 26 - 28 วัน ลูกนกแรกเกิดมีขนอุยคลุมทั่วตัว สามารถยืนและเดินตามแม่ไปหาอาหารได้ทันทีที่ขนแห้ง โดยลูกนกจะตามแม่ไปหากินไม่น้อยกว่า 6 เดือน จากนั้นจึงหากินตามลำพัง


       

นกกระตั้ว (Cockatoo) เป็นนกประเภทปากคีม มีหลายสกุล ส่วนมากจะมีสีขาว บางชนิดมีสีเหลืองอ่อนแซมเล็กน้อย มีหงอน มีลิ้นและสามารถสอนให้พูดได้เหมือนนกแก้ว ชื่อ Cockatoo เป็นภาษามาเลย์แปลว่าคีมใหญ่ พบในแถบอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, นิวกินี, หมู่เกาะโซโลมอน และ ออสเตรียเลีย ชนิดที่มนุษย์จับมาเลี้ยงนั้นมีราคาสูง สกุลที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทยคือ กระตั้วมอลลัคคัน, กระตั้วอัมเบรลล่า และ กระตั้วซัลเฟอร์เครสต์ กระตั้วที่อยู่ตามธรรมชาติจะมีอายุขัยเพียง 20-30 ปีเท่านั้น แต่กระตั้วที่มนุษย์นำมาเลี้ยงจะมีอายุยืนถึง 60-80 ปี

 อนุกรมวิธาน
เดิมทีกระตั้วถูกจัดเป็นหนึ่งในวงศ์ย่อย Cacatuinae ของวงศ์นกแก้ว Psittacidae โดย จอร์จ โรเบิร์ต เกรย์ นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1840 โดยมีสกุล Cacatua เป็นสกุลต้นแบบ ก่อนจะถูกจัดแยกออกมาเป็นวงศ์เฉพาะในปี ค.ศ. 1990

ลักษณะทางกายภาพ
กระตั้วเป็นนกที่มีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำตัวยาว 30-60 เซนติเมตร (12-24 นิ้ว) หนัก 300-1,200 กรัม (0.66-2.6 ปอนด์) มีหงอนบนหัวที่สามารถหุบและแผ่ได้ จะงอยปากสีดำใหญ่เหมือนคีม มีความคมและแรงกัดมหาศาล เท้าแต่ละข้างมีนิ้ว 4 นิ้ว ยาวและมีเล็บแหลม สามารถเกาะและปีนป่ายได้ดี

 การเลี้ยงกระตั้วในประเทศไทย
                กระตั้วอัมเบรลล่า หนึ่งในสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงกระตั้วที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทยคือ กระตั้วมอลลัคคัน, กระตั้วอัมเบรลล่า และ กระตั้วซัลเฟอร์เครสต์ โดยมีราคาสูงหลักหมื่นบาท กระตั้วที่มนุษย์เลี้ยงโดยป้อนอาหารให้กับมือจะมีความเชื่องมากกว่ากระตั้วที่ปล่อยให้แม่นกป้อนอาหารเองมาก และจะขายได้ราคาสูงกว่าด้วย กระตั้วเป็นนกที่มีนิสัยชอบร้องเสียงดัง ผู้อยู่อพาร์ทเมนท์ไม่ควรเลี้ยงอย่างเด็ดขาด กระตั้วมีนิสัยติดและหวงเจ้าของ จำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่และมีเวลาให้กับกระตั้วมาก ๆ หากปล่อยนกไว้ไม่มีใครสนใจจะทำให้กระตั้วหงุดหงิดและทำลายข้าวของ, ทำร้ายตัวเอง (กัดขาตัวเอง), ทำร้ายผู้คนที่เข้ามาใกล้ กระตั้วที่ผูกพันกับเจ้าของมากเกินไปอาจจะทำให้ไม่ยอมมีคู่และไม่ยอมผสมพันธุ์ได้




นกระวังไพรปากเหลือง Pomatorhinus schisticeps (White-browed Scimitar-Babbler)มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 21-23 เซ็นติเมตร ปากโค้งค่อนข้างยาวสีเหลือง คิ้วขาว มีแถบคาดตาสีดำ ใต้คอ อก และท้องสีขาว ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแกมเขียว ลำตัวด้านข้างสีน้ำตาลแกมเหลืองหรือสีส้มอมแดง นกทั้งสองเพศคล้ายคลึงกัน ทั่วโลกมี 13 ชนิดย่อย พบในประเทศไทย 6 ชนิดย่อย ซึ่งจะมีสีสันแตกต่างกันออกไปเล็กน้อย และกระจายพันธุ์แยกท้องที่กันออกไป
นกชนิดนี้มักอยู่เป็นฝูงประมาณ 4-10ตัว อาจอยู่รวมกับนกกะราง หากินด้วยการบินและกระโดดไปตามพื้นดินและกิ่งไม้พุ่มเตี้ย ไม้พื้นล่างและต้นไม้สูง เสียงร้องดังสลับกันไปมา ทั้งเพื่อประกาศอาณาเขต เรียกร้องความสนใจจากนกตัวเมียและร้องเตือนภัยแก่สัตว์ชนิดอื่นๆ ในช่วงฤดูผสมพันธุ์มักพบอยู่เป็นคู่ อาหารของนกชนิดนี้ได้แก่ หนอน แมลง และผลไม้สุกที่ร่วงหล่นตามพื้น
ช่วงเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคมเป็นช่วงจับคู่ทำรังวางไข่ของนกระวังไพรปากเหลือง รังทำจากใบไผ่ ใบหญ้าต้นยาว รองรังด้วยรากฝอยของไผ่หรือใบหญ้าฉีกละเอียด รังเป็นทรงกลมสานแบบหลวมๆค่อนข้างรกมีทางเข้าออกด้านข้าง มักอยู่ตามโพรงระหว่างรากไม้ใหญ่ใกล้พื้นดิน กอไผ่ กอหญ้า ในเถาวัลย์ที่ปกคลุมต้นไม้ใหญ่ เป็นต้น สูงจากพื้นดินไม่เกิน 1 เมตร วางไข่คราวละ 3-4ฟอง เปลือกไช่สีขาวไม่มีลาย ขนาด19.2*26.6มม. พ่อแม่นกช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงลูกอ่อน
เรามักพบนกชนิดนี้ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบเขา ป่าชั้นรอง ป่าไผ่ ทุ่งหญ้า บริเวณที่มีไม้พุ่มเตี้ยขึ้นอย่างหนาแน่น ตั้งแต่พื้นราบไปจนถึงที่สูง 2135เมตรจากระดับน้ำทะเล นกระวังไพรปากเหลืองเป็นนกประจำถิ่นของภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือของอนุทวีปอินเดีย ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   สำหรับประเทศไทยเป็นนกประจำถิ่นที่พบได้แทบทุกภาค



นกจุนจู๋หัวสีตาล  Tesia castaneocoronata (Chestnut-headed Tesia)เป็นนกตัวเล็กหางสั้นจุนจู๋สมชื่อ มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 8.5-9.5เซ็นติเมตร หัวและหน้าสีน้ำตาลแดงมีวงรอบตาสีขาวไม่เต็มวงและกว้างเป็นพิเศษด้านหลังตาทำให้ดูเป็นแถบสีขาว คอสีเหลืองสดใส ท้องลายสีเหลืองสลับเขียวอ่อน ลำตัวด้านบนและสีข้างสีเขียวแกมเหลือง ตัวผู้และตัวเมียรูปร่างและสีสันเหมือนกัน
นกจุนจู๋ (Tesia) มีอยู่ทั้งหมด 5 ชนิด จัดเป็นชนิดที่พบทางเหนือ(พบได้ในประเทศจีนทางตอนใต้ พม่า ตอนเหนือของไทย ลาวและอินเดีย เนปาลตอนใต้และเวียตนาม) 3 ชนิด และชนิดที่พบทางใต้(พบได้ในเกาะชวา หมู่เกาะซุนดาน้อยทางตอนใต้ของอินโดนีเซีย) 2 ชนิด เป็นนกที่อาศัยตามพื้นป่า มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 7-10 เซ็นติเมตร มีน้ำหนักประมาณ 6-12 กรัม ขายาว(เมื่อเทียบกับตัว) ชอบยืนตัวตรง และมีหางสั้นจนดูเหมือนไม่มีหาง ปากของนกจุนจู๋ทุกชนิดจะยาวและมีสองสี คือจะงอยปากบนสีเข้ม จะงอยปากล่างสีเนื้อ
นกจุนจู๋อาศัย ตามป่าชั้นล่างของป่าดิบเขา โดยมักจะอยู่ในป่าที่ชุ่มชื้น มักพบใกล้น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกจุนจู๋หัวสีตาลและนกจุนจู๋หัวเหลือง นกจุนจู๋ที่พบทางเหนือเป็นนกอพยพตามระดับความสูง กล่าวคือทำรังวางไข่ในที่สูงได้ถึง 4000 เมตรจากระดับน้ำทะเล และอพยพลงมาในฤดูหนาวได้จนถึงที่ความสูงเพียง 150 เมตรจากระดับน้ำทะเล ส่วนอีกสองชนิดที่พบทางใต้เป็นนกที่อยู่ประจำถิ่น
อาหารของนกจุนจู๋ คือพวกแมลงเล็กๆโดยนกจะหากินใกล้พื้นดินใต้พุ่มไม้ใบบังและกองใบไม้
นกจุนจู๋หัวสีตาล ทำรังวางไข่ตามฤดูกาล โดยจะวางไข่ครั้งละ 2 ฟอง นกทั้งสองเพศช่วยกันกกไข่ บางครั้งนกชนิดนี้ก็ถูกนกคัคคูเล็ก (Lesser Cuckoo) แอบมาวางไข่ในรังฝากเลี้ยงลูกด้วย
นกชนิดนี้มีการกระจายพันธุ์ในทวีปเอเชียในประเทศบังคลาเทศ อินเดีย ภูฏาน เนปาล พม่า จีน ไทย ลาว และเวียตนาม ในประเทศไทยเป็นนกประจำถิ่นทางเหนือของประเทศตามพื้นป่าดิบ ที่ความสูง 950-2565เมตรจากระดับน้ำทะเล




นกกะเต็นลาย Lacedo pulchella (Banded Kingfisher)มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 20 เซ็นติเมตร นกตัวผู้และนกตัวเมียมีสีสันต่างกันอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ นกตัวผู้มีขนคลุมหน้าและหน้าผากสีน้ำตาลเข้ม ขนคลุมหัวและท้ายทอยเป็นน้ำเงินหรือสีฟ้าสดใสมีลายเล็กน้อย มีขนคลุมหลังและหางเป็นลายสลับสีระหว่างสีฟ้าสลับดำและสีขาวสลับดำ ขนคลุมลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลอ่อนปนส้มและเป็นสีขาวบริเวณท้อง ส่วนนกตัวเมียขนคลุมลำตัวด้านบนรวมไปถึงหัวเป็นลายสลับสีน้ำตาลและดำ ขนคลุมลำตัวด้านล่างด้านข้างคอและข้างลำตัวเป็นลายๆสีดำ ส่วนที่เหลือเป็นสีขาว นกทั้งสองเพศมีปากสีแดง
นกกะเต็นลายเป็นนกกะเต็นป่าที่มีแหล่งอาศัยอยู่ไกลแหล่งน้ำกว่านกกะเต็นอื่นๆ กินอาหารจำพวก แมลง ตั๊กแตน ด้วง จักจั่น จิ้งหรีด ตัวอ่อนของแมลงและสัตว์เลื้อยคลานเล็กๆจำพวกกิ้งก่า กิ้งก่าบิน งู เป็นต้น ชอบหากินตามลำพังหรือเป็นคู่ โดยนกมักเกาะนิ่งๆตามใต้พุ่มไม้หรือที่ร่มครึ้มในป่าที่ชุ่มชื้น และกระดกขนบนหัวและหน้าผากขึ้นๆลงๆแทบจะตลอดเวลา เมื่อพบเหยื่อก็จะโฉบลงมาจับและขึ้นไปเกาะกิ่งเดิมหรือกิ่งใกล้เคียง
นกชนิดนี้มีการกระจายพันธุ์กว้างขวางโดยเป็นนกประจำถิ่นของสุมาตรา ชวาและบอร์เนียว เป็นนกประจำถิ่นที่พบบ่อยทางภาคใต้และตะวันออกของพม่า เขตเทนเนอซาลิม ทุกภาคของไทยยกเว้นภาคกลาง เขมร ลาว ภาคกลางและภาคใต้ของแคว้นอันนัมในเวียตนาม โคชินไชน่า และคาบสมุทรมลายา ฤดูทำรังวางไข่ของนกชนิดนี้แตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ สำหรับประเทศไทย นกจะทำรังในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม สุมาตราเดือนพฤษภาคม ชวาเดือนมีนาคมและบอร์เนียวทำรังในเดือนมกราคม เป็นต้น
รังของนกชนิดนี้ทำโดยเจาะโพรงเข้าไปในลำต้นไม้ในส่วนที่ผุพัง สูงจากพื้นดินราว 3 เมตร เคยมีรายงานว่านกชนิดนี้เจาะโพรงเข้าไปในรังมดที่ทำรังบนต้นไม้และวางไข่ด้วย นกวางไข่ครอกละ2-5ฟอง เปลือกไข่สีขาว ขนาด24.6*20.8มม.
นกกะเต็นลายแบ่งออกเป็น 3 ชนิดย่อย และพบได้ในประเทศไทยทั้ง 3 ชนิดย่อย ดังนี้
1.ชนิดย่อย L.p.pulchella พบทางภาคใต้ตอนใต้ที่จังหวัดสงขลาและนราธิวาส
2. ชนิดย่อย L.p.amabilis พบทางภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคกลางในบางแห่ง
3.ชนิดย่อย L.p.melanops พบทางภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระลงไปจนถึงจ.ตรัง




นกชายเลนปากงอน เป็นนกชายเลนย้ายถิ่น ขายาว ปากสีดำแอ่นงอนสะดุดตา นกชายเลนปากงอนยังมีขนสีขาวสลับดำ ทั่วตัว เป็นจุดเด่นอีกด้วย โดยบริเวณ หน้าผาก กระหม่อน ลงมาจนถึงใต้ตา ท้ายทอย และ หลังคอมีสีดำ รวมทั้งขนคลุมไหล่ และ ด้านข้างของหลังช่วงบนทั้งสองข้าง





นกจับแมลงสร้อยคอขาว Ficedula monileger หรือ Anthipes monileger (White-gorgeted Flycatcher) มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 12-13 เซ็นติเมตร เกือบจะเป็นนกจับแมลงหน้าตาไม่น่าสนใจเมื่อสีสันส่วนใหญ่บนตัวเป็นสีน้ำตาลๆเทาๆ แต่เมื่อได้มองข้างหน้า นกชนิดนี้ก็กลายเป็นนกหน้าตาน่ารักไปได้ เพราะมีคิ้วขาวชัดเจนตัดกับหน้าสีเทา มีแถบตาสีดำ มีแถบสามเหลี่ยมตั้งสีขาวขอบสีดำที่บริเวณคอและอกตอนบน เห็นได้ชัดเจน นกตัวผู้และตัวเมียสีสันหน้าตาคล้ายคลึงกัน
นกชนิดนี้เคยเป็นหนึ่งในนกจับแมลง Genus Ficedula (Family Muscicapinae , Subfamily Muscicapinae) ซึ่งมี30กว่าชนิด ต่อมาได้มีการศึกษาและพบว่านกจับแมลง Ficedula ไม่ได้มีพัฒนาการมาจากบรรพบุรุษแบบเดียว นกสองชนิดในGenusนี้คือ นกจับแมลงสร้อยคอขาวและนกจับแมลงคอขาวหน้าแดงถูกแยกออกมาเป็นนกจับแมลง Genus Anthipes เป็นครั้งแรกเพราะมีความใกล้ชิดกับพวก Niltava (Outlaw & Voelker 2006)
นกจับแมลงสร้อยคอขาวมีการกระจายพันธุ์ในประเทศบังคลาเทศ ภูฏาน จีน อินเดีย ลาว พม่า เนปาล ไทยและเวียตนาม
นกชนิดนี้เป็นนกจับแมลงที่หากินแมลงใกล้พื้นดิน โดยมักพบใกล้แหล่งน้ำในป่าดิบ ป่าไผ่ที่ความสูง 600-1900 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นนกประจำถิ่นของไทย พบบนภูเขาทางภาคเหนือของประเทศ



นกกะรางแก้มแดง  Liocichla phoenicea (Red-faced Liocichla) มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ20.5-23.5เซ็นติเมตร มีจุดเด่นที่ขนคลุมหน้า แก้มและคอสีแดงสด ขนคลุมลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแกมเทา ขนคลุมลำตัวด้านล่างสีออกเขียว ขนปีกบินสีดำแกมแดงและเหลือง หางดำปลายหางสีน้ำตาลแกมเหลือง นกตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน
นกกะรางกลุ่ม Liocichlaนี้มีอยู่ทั้งหมด 4 ชนิด คือ Grey-faced Liocichla (เฉพาะถิ่นมณฑลเสฉวนตอนใต้), Steere’s Liocichla(เฉพาะถิ่นไต้หวัน) , Red-faced Liocichla และ Bugun Liocichla(พบในประเทศอินเดีย) ในทั้ง 4 ชนิดนี้มีสองชนิดที่อยู่ในข่ายถูกคุกคามเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์(Vunerable) คือ ชนิดแรกและชนิดสุดท้าย
อาหารของนกชนิดนี้และนกกะรางอื่นๆคือแมลงและลูกไม้ในป่า
นกกะรางแก้มแดงมีการกระจายพันธุ์ในประเทศบังคลาเทศ ภูฏาน อินเดีย จีน พม่า ไทย ลาวและเวียตนาม โดยพบตามป่าเขตร้อนและใกล้เขตร้อนบนเขา สำหรับประเทศไทยเป็นนกประจำถิ่นที่พบไม่บ่อยตามป่าดิบ ชายป่าที่ความสูง 1800เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป



นกเขนน้อยข้างสีส้ม  Tarsiger cyanurus (Orange-flanked Bush-robin) มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 13-15 เซ็นติเมตร ความกว้างจากปลายปีกจรดปลายปีก 22-23 เซ็นติเมตร น้ำหนักประมาณ 11 กรัม นกตัวผู้มีขนคลุมลำตัวด้านบนสีน้ำเงิน ขนคลุมลำตัวด้านล่างตั้งแต่คอถึงก้นเป็นสีขาว ขนที่สีข้างทั้งสองข้างเป็นสีส้ม
นกตัวเมียมีขนคลุมลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแทนที่สีน้ำเงินของตัวผู้ มีขนหางสีฟ้า ขนคลุมลำตัวด้านล่างสีอ่อน บริเวณคอมีแถบเล็กๆเป็นแนวตั้งสีขาวมีสีข้างสีส้มเช่นเดียวกับนกตัวผู้
นกเขนน้อยข้างสีส้ม ( Orange-flanked Bush-Robin ) ถูกแบ่งออกเป็น2ชนิดย่อยคือ ชนิดย่อย cyanurus และชนิดย่อย rufilatus นกทั้งสองชนิดย่อยมีข้อแตกต่างกันในเรื่องของชุดขน ขนาดและเสียงร้องจนอาจถูกแยกออกเป็นสองชนิด ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนเช่น
1.ชนิดย่อย rufilatus มีขนคลุมตัวด้านบนสีสดใสกว่า มีคิ้วสีฟ้าอ่อนโดยไม่มีสีขาวเลย และมีแถบคอสีขาวที่แคบกว่า
2.ชนิดย่อย rufilatus มีหางและฝ่าเท้ายาวกว่า และมีปลายปีกกลมกว่า
3.ตัวเมียและตัวผู้วัยอ่อนของชนิดย่อย rufilatus โดยเฉลี่ยมีคอและท้องสีขาวกว่า

จึงได้มีการเสนอให้แบ่งนกชนิดนี้ออกเป็นสองชนิด กล่าวคือ ชนิดย่อย cyanurusให้ชื่อว่า
Red-flanked Bluetail และชนิดย่อย rufilatus ให้ชื่อว่า Himalayan Bluetail

อาหารของนกเขนน้อยข้างสีส้ม คือแมลงต่างๆ และผลไม้ป่า โดยหากินบนพื้นและบนต้นไม้

นกชนิดนี้ทำรังวางไข่ในป่าสนผสม ซึ่งมีไม้พุ่มในยูเรเชีย เอเชียเหนือจนถึงเทือกเขาหิมาลัยและตะวันตกของประเทศจีน โดยจะทำรังจากหญ้า รากไม้และมอส รองพื้นด้วยหญ้านุ่มๆ ใบสน ขนสัตว์ บนตอไม้หรือขอนไม้หรือบนพื้น วางไข่ครอกละ 3-5ฟอง ใช้เวลากกไข่ประมาณ 12-15 วันโดยนกตัวเมียรับหน้าที่นี้
ในฤดูหนาว นกชนิดนี้จะอพยพลงมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นกเขนน้อยข้างสีส้มจากไซบีเรียค่อยๆเปิดเส้นทางบินสู่ตะวันตกไปยุโรปจนถึงประเทศอังกฤษซึ่งมีรายงานการพบแทบทุกปี โดยนกที่พบเป็นชนิดย่อย cyanurus นอกจากนี้ยังมีรายงานการพบอีกเล็กน้อยทางตะวันตกสุดของทวีปอเมริกาเหนือ
สำหรับประเทศไทย นกเขนน้อยข้างสีส้มเป็นนกอพยพในฤดูหนาวที่พบทางตอนเหนือของประเทศตามป่าดิบรกทึบที่มีความสูง 800 เมตร จากระดับน้ำทะเลขึ้นไป โดยพบได้ทั้งสองชนิดที่กล่าวมา




Fairy Pitta Pitta nympha (รอชื่อภาษาไทย) เป็นนกชนิดใหม่ที่พบในประเทศไทย ที่พุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 16-19.5 เซ็นติเมตร มีสีสันคล้ายกับนกแต้วแล้วธรรมดา (Blue-winged Pitta)แต่ตัวเล็กกว่า นกทั้งสองเพศคล้ายคลึงกัน
ความแตกต่างระหว่างนกสองชนิดคือ
1.นอกเหนือจากบริเวณข้างกระหม่อมที่เป็นสีส้มอมน้ำตาลแล้ว นกชนิดนี้ยังมีคิ้วสีนวลลากจากโคนปากไปถึงเกือบท้ายทอย ขณะที่ของแต้วแล้วธรรมดาเป็นสีส้มอมน้ำตาลทั้งหมด
2.สีลำตัวด้านล่างอ่อนกว่านกแต้วแล้วธรรมดา
3.เวลาบิน จะเห็นว่าปีกของนกแต้วแล้วธรรมดามีวงสีขาวใหญ่กว่ามาก

นกชนิดนี้ทำรังวางไข่ในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวันและช่วงฤดูหนาวบินอพยพลงไปหากินที่เกาะบอร์เนียว ประเทศมาเลเซีย ประเทศบรูไน และที่กาลิมันตันประเทศอินโดนีเซีย เคยพบว่าเป็นนกอพยพผ่านในไต้หวัน เกาหลีเหนือ เวียตนามและฮ่องกง

Fairy Pitta ทำรังในป่าใกล้เขตร้อนในป่าดิบใกล้ชายฝั่งเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็พบว่ามีการทำรังในบริเวณพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ป่าที่ถูกปรับแต่งด้วย ในประเทศเกาหลีใต้ นกชนิดนี้ทำรังในป่าที่มีความชื้นสูงและป่าใกล้ชายฝั่งสูงถึง 1200 เมตรจากระดับน้ำทะเล หากินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเช่นหนอน ไส้เดือนตามใบไม้ที่หล่นทับถม
จำนวนประชากรของนกชนิดนี้คาดว่ามีไม่เกินหลักพันและมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากการบุกรุกพื้นที่ป่าในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน ไฟป่า แม้ว่าพื้นที่ป่าของประเทศญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เป็นป่าชั้นสองหรือไม่ก็เป็นพื้นที่ปลูกไม้อายุสั้นเพื่อการตัดใช้ ในอดีตการล่าและจับเป็นนกกรงก็มีมากในประเทศจีนและไต้หวัน การรบกวนของมนุษย์เป็นปัญหาในไต้หวัน เกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่นักถ่ายภาพบุกรุกสถานที่ทำรังวางไข่ สถานทีทำรังวางไข่หลักในไต้หวันก็ถูกคุกคามด้วยโครงการสร้างเขื่อนHushanซึ่งจะทำให้น้ำท่วมพื้นที่อยู่อาศัยของนก
นกชนิดนี้ถูกพบเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นที่ที่พบนกแต้วแล้วอกเขียวและแต้วแล้วธรรมดาเป็นประจำทุกเดือนเมษายน โดยในตอนแรกไม่มีใครคิดว่าเป็นนกชนิดใหม่เพราะนกชนิดนี้คล้ายคลึงกับนกแต้วแล้วอกเขียววัยอ่อนผสมกับนกแต้วแล้วธรรมดา




นกจาบคาเคราแดง  Nyctyornis amictus (Red-bearded Bee-eater) มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 32-35 เซ็นติเมตร หัวโต ปากโค้งดำ คอถึงอกตอนบนมีขนยาวสีแดงเหมือนมีเคราแดง ท้องเขียวแกมเหลืองมีขีดเขียวเข้ม หน้าผากและกระหม่อมสีม่วงแกมชมพูในนกตัวผู้
ส่วนนกตัวเมียจะมีหน้าผากสีแดงเช่นเดียวกับที่คอ ขนคลุมลำตัวส่วนที่เหลือเป็นสีเขียว นกชนิดนี้มีญาติคือ นกจาบคาเคราน้ำเงินเหมือนนกจาบคาอื่นๆ
นกจาบคาเคราแดงกินแมลงเป็นอาหาร โดยเฉพาะ ผึ้ง ต่อ และแตน โดยนกจะเกาะคอนซ่อนตัวระหว่างใบไม้ และบินออกไปจับเหยื่อกลางอากาศ โดยนกชนิดนี้มักหากินตัวเดียวหรือเป็นคู่มากกว่าเป็นฝูง
นกจาบคาเคราแดงทำรังในโพรงที่ขุดเข้าไปในตลิ่งข้างลำธารในป่าเช่นเดียวกับนกจาบคาเคราน้ำเงิน โดยจะไม่ทำรังใกล้ๆกันหลายๆรังแบบพวกนกจาบคาเล็กๆอื่นๆ
นกชนิดนี้อาศัยในป่าดิบจากที่ราบถึงความสูง 1500 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นนกประจำถิ่นภาคตะวันตกและภาคใต้ของไทย คาบสมุทรมลายู สุมาตรา และบอร์เนียว สำหรับประเทศไทยเป็นนกประจำถิ่นที่พบได้ค่อนข้างบ่อย




นกปลีกล้วยลาย  Arachnothera magna (Streaked Spiderhunter)เป็นหนึ่งในนกปลีกล้วย 7 ชนิดที่พบในประเทศไทยและมีรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกับนกกินปลีเพียงแต่ตัวโตกว่า ปากยาวกว่า และสีสันไม่ เจ็บเท่า
นกปลีกล้วยลายมีความยาว จากปลายปากจรดปลายหางราว 19 เซ็นติเมตร มีขนคลุมตัวด้านบนสีเหลืองอมเขียวและด้านล่างสีขาวครีม มีขีดสีดำลายๆไปทั้งตัว ที่เป็นอย่างนี้เพราะมีขีดสีดำที่กึ่งกลางขนนั่นเอง มีปากยาวโค้งสีดำ คอสั้น หางสั้น มีขาและเท้าสีเหลืองอมส้ม
อาหารของนกปลีกล้วย คือน้ำหวานจากดอกไม้ ที่โปรดที่สุดเห็นจะเป็นน้ำหวานจากปลีกล้วยซึ่งนกจะเกาะปลีกล้วยแบบสบายๆและยื่นปากยาวๆโค้งๆของตัวเองเข้าไปตามกรวยดอกเพื่อดูดซับน้ำหวานด้วยลิ้นที่ม้วนเป็นหลอดและปลายลิ้นที่เป็นแฉกอย่างทั่วถึง นอกจากน้ำหวานแล้วนกปลีกล้วยก็กินอาหารจำพวกโปรตีนอย่างแมลงต่างๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง แมงมุม ซึ่งนกสามารถบินกระพือปีกอยู่กับที่หน้าใยที่แมงมุมชักและจิกเอาเจ้าของใยไปได้อย่างง่ายดาย มีผู้พบนกชนิดนี้กระพือปีกอยู่กับที่และดูดน้ำหวานจากดอกไม้บ่อยๆเช่นกัน
ฤดูผสมพันธุ์และทำรังวางไข่ของนกชนิดนี้น่าจะอยู่ในช่วงฤดูร้อนทั้งฤดูไปจนถึงฤดูฝน โดยนกตัวผู้จะเกี้ยวพาราสีตัวเมียโดยการยกตัวขึ้น พองขนพร้อมส่งเสียงแหลมดัง บินไป แล้วบินมาใหม่ วนเวียนอยู่แบบนี้ เมื่อตกลงปลงใจกันแล้วนกจะทำรังโดยนำโครงใบไม้ หญ้าและเส้นใยของพืชมาสอดประสานกัน หุ้มด้วยใยแมงมุมจนกลายเป็นรูปถ้วยแล้วเย็บขอบรังด้านหนึ่งติดกับใบไม้ขนาดใหญ่เช่นใบกล้วยเพื่อกันน้ำฝน นกจะวางไข่ครั้งละ2-3ฟอง ขนาด19*14มม. เปลือกไข่สีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลอมเขียวอ่อน มีจุดกระ นกทั้ง 2 เพศผลัดกันกกไข่ 12-13วันต่อมาลูกนกก็จะออกจากไข่ นกเบียนของนกชนิดนี้คือนกคัคคูเหยี่ยวที่ชอบแอบเข้ามาจิกไข่ของเจ้าของรังทิ้งและวางไข่ตัวเองไว้แทน
นกปลีกล้วยลายมักอาศัยตามที่ที่มีกล้วยขึ้นเป็นดงในป่าผสมผลัดใบ ป่าดิบแล้งและป่าดิบเขา จากที่สูง900-1800เมตรจากระดับน้ำทะเล มีการกระจายพันธุ์ในแถบเชิงเขาหิมาลัย ตอนเหนือของอินเดีย ตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของบังคลาเทศ พม่า จีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ ไทย ลาว เวียตนามตอนกลางและตอนเหนือ และคาบสมุทรมลายู
นกปลีกล้วยมีทั้งหมด 6 ชนิดย่อย แต่พบในประเทศไทย 2 ชนิดย่อย ได้แก่
1.ชนิดย่อย A.m.musarum พบทางภาคเหนือ ตะวันตกเฉียงเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ
2.ชนิดย่อย A.m.pagodarum พบทางภาคตะวันตกของประเทศไทย




นกศิวะปีกสีฟ้า Minla cyanouroptera ( Blue-winged Minla )เป็นหนึ่งในสองชนิดของนกศิวะที่พบในประเทศไทย อีกชนิดคือ นกศิวะหางสีตาล ( Chestnut-tailed Minla )
นกชนิดนี้เป็นนกขนาดเล็ก มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 16 เซ็นติเมตร มีขนคลุมลำตัวด้านบนสีเทาแกมน้ำตาล กระหม่อมและขนปีกมีสีเข้มกว่า ขนปีกชั้นนอกสุดเป็นสีน้ำเงินเข้ม แต่เมื่ออยู่ในที่ทึบแสงจะดูเหมือนเป็นสีดำ มีม่านตาสีขาวกว้าง คิ้วขาว และมีแถบสีดำเหนือคิ้วขึ้นไปอีกดูเหมือนมีคิ้วสองชั้น ไหล่ ตะโพก และขนคลุมโคนหางด้านบนมีสีเทาแกมน้ำตาลจนถึงสีน้ำตาลแดง ลำตัวด้านล่างมีตั้งแต่สีขาวจนถึงน้ำตาลอ่อน ท้องสีขาว เป็นนกที่มีหลายชนิดย่อยซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไปเล็กน้อย นกตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน
ตามปรกติเรามักพบนกชนิดนี้อยู่เป็นฝูงขนาดเล็ก และอาจหากินร่วมกับนกกินแมลงขนาดเล็กอื่นๆ โดยอาศัยและหากินตามยอดไม้พุ่มและต้นไม้ขนาดกลางหรืออาจลงหากินบนพื้นดิน โดยนกชนิดนี้มักกินหนอนมากกว่ากินแมลง นกชนิดนี้อาศัยตามป่าดงดิบเขาในระดับความสูงตั้งแต่ 900-2600เมตรจากระดับน้ำทะเล
ช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน เป็นช่วงทำรังวางไข่ของนกชนิดนี้ โดยนกจะทำรังเป็นรูปถ้วยทำด้วยใบไม้ ใบไผ่ รากฝอยของต้นไผ่ มอส สานกับเถาวัลย์เส้นเล็กๆหรือมือเกาะของไม้เลื้อย รองพื้นรังด้วยขนนกหรือขนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รังอยู่ตามพุ่มไม้ที่ค่อนข้างรกทึบสูงจากพื้นราว1-8 เมตร หรืออาจทำรังตามโพรงดิน หรือซอกโพรงระหว่างไม้ใหญ่ วางไข่ครอกละ2-5ฟอง เปลือกไข่สีน้ำเงินเข้มถึงสีฟ้าอมขาว มีลายประเป็นจุดสีดำหรือแดง หรือน้ำตาลและม่วงเล็กน้อย ขนาดประมาณ 14.5*18.4 มิลลิเมตร พ่อและแม่นกช่วยกันทำรัง ฟักไข่และเลี้ยงลูกอ่อน
นกศิวะหางสีฟ้าเป็นนกประจำถิ่นของ อนุทวีปอินเดีย จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะไม่พบในบางพื้นที่ เช่นประเทศสิงคโปร์ สำหรับประเทศไทย พบทุกภาค เว้นภาคกลางและตะวันออกเฉียงใต้




นกแต้วแล้วใหญ่หัวสีน้ำตาล  Pitta oatesi (Rusty-naped Pitta) มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 21-25 เซ็นติเมตร นกตัวผู้มีขนคลุมหัวและลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลแกมส้ม หลังตามีแถบสีดำจางๆ คอสีน้ำตาลแกมเหลือง ขนคลุมลำตัวด้านบนสีเขียวไม่สดใสนัก ตะโพกน้ำเงินแกมเขียว ตัวเมียคล้ายกันแต่ขนคลุมหัวและลำตัวซีดกว่า หลังตอนบนและปีกสีน้ำตาล
นกแต้วแล้วเป็นนกหากินกลางวัน เพราะต้องอาศัยแสงสว่างในการหาอาหารที่ซ่อนตัวอยู่ตามใต้ใบไม้ใบหญ้า และในดิน อาหารหลักของนกชนิดนี้คือไส้เดือน หอยทาก แมลงเล็กๆแม้กระทั่งสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นอย่างพวกกิ้งกือ ตะขาบ แมงมุม
นกแต้วแล้วหัวสีน้ำตาลมีการกระจายพันธุ์ใน ประเทศจีน ลาว เวียตนาม ไทย มาเลเซียและพม่าในป่าดิบชื้นในเขตร้อนและใกล้เขตร้อน ทั้งบนเขาและที่ราบ สำหรับในประเทศไทยเป็นนกประจำถิ่นพบไม่บ่อย
โดยพบได้ใน ป่าดิบบนภูเขาที่ความสูง 380-2565 เมตรจากระดับน้ำทะเล




นกจับแมลงคอขาวหน้าแดง  Ficedula solitaries ( Rufous-browed Flycatcher) เป็นนกจับแมลงตัวเล็ก ความยาวจากปลายปากจรดปลายหางเพียง 13 เซนติเมตร สีโดยรวมทั้งตัวเป็นสีน้ำตาล มีสีน้ำตาลอมแดงที่หน้าและคิ้ว ดวงตาสีดำกลมแป๋ว จุดเด่นอยู่ที่ใต้คอซึ่งเป็นแถบสามเหลี่ยมตั้งสีขาวสะอาด นกตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน นกชนิดนี้มีคู่คล้ายคือนกจับแมลงสร้อยคอขาว ซึ่งมีแถบสีขาวใต้คอเหมือนกัน แต่จับแมลงสร้อยคอขาวมีคิ้วสีขาว หน้าไม่เป็นสีน้ำตาลแดงและบริเวณขอบของแถบสีขาวมีเส้นสีดำเห็นได้ชัด
นกจับแมลงคอขาวหน้าแดงมักถูกพบหากินตัวเดียว โดยชอบอยู่ในที่ที่ชื้นแฉะมีน้ำไหลหรือซึมผ่าน ซึ่งเป็นแหล่งหาอาหารและวางไข่ของแมลงและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กซึ่งเป็นอาหารของนก นกจะโฉบจับแมลงจากกิ่งใกล้พื้นดิน หรือลงไปกินบนพื้น โดยใช้วิธีโฉบจับ ไม่เดินจิกกิน
นกชนิดนี้ทำรังวางไข่ในช่วง เดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม โดยทำรังเป็นรูปทรงกลมด้วยวัสดุจำพวกหญ้าต้นยาว มอส รองรังด้วยหญ้าที่ฉีกเป็นเส้นเล็กๆ รังจะอยู่บนพื้นดินหรือตามซอกเล็กซอกน้อย บนผนังดินข้างทางเดินในป่า วางไข่ครอกละ2-3ฟอง ขนาดราว 14*19 มิลลิเมตร นกทั้งสองเพศช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงลูกอ่อน
นกจับแมลงคอขาวเป็นนกประจำถิ่นของ เกาะสุมาตรา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในแถบแทนเนอซาลิมในพม่า ภาคตะวันตกและภาคใต้ของไทย คาบสมุทรมลายู ภาคใต้ด้านตะวันออกของลาว และภาคใต้ของอันนัม
ในประเทศไทย เราสามารถพบนกชนิดนี้ได้ใน ที่สูงระดับ 400 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป พบทางตะวันตกและภาคใต้ มักมีรายงานการพบที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน



นกจับแมลงอกสีฟ้า Cyornis hainana (Hainan Blue Flycatcher) เป็นนกจับแมลงขนาดเล็ก มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 13.5-14 เซนติเมตร นกตัวผู้มีลำตัวด้านบน ใต้คอ และอกสีน้ำเงินเข้ม กลางท้องและสีข้างสีฟ้าอมเทา และค่อยๆจางลงจนเป็นสีขาวที่ขนคลุมโคนหางด้านล่าง มีแถบสีฟ้าสะท้อนแสงบริเวณโคนปากด้านบนลากไปข้างหลังสองแถบคล้ายคิ้ว และมีสีฟ้านี้อีกที่หัวปีกทั้งสองข้าง นกตัวเมียมีขนคลุมลำตัวด้านบนสีน้ำตาล คอและอกสีน้ำตาลแดง วงเนื้อรอบตาเป็นสีเนื้อ นกตัวเมียที่มีอายุหลายปีจะมีแต้มสีฟ้าอมเทาที่บริเวณหลัง หาง และขนคลุมหางด้านบน
นกชนิดนี้มักถูกพบหากินตัวเดียวหรือเป็นคู่ อาจหากินร่วมกับนกจับแมลงชนิดอื่นๆ โดยบินโฉบจับอาหารกลางอากาศ บางครั้งลงมาจับแมลงที่พื้นดิน ช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน นกจับแมลงอกสีฟ้าจะจับคู่ทำรังเป็นรูปถ้วยหยาบๆจากมอสสีเขียว รองรังด้วยไลเคนส์ หญ้า รากฝอยของพืช ทำเลของรังมักเป็นซอกหิน โพรงของตอไม้ตายหรือซอกหินริมลำห้วย วางไข่ครอกละ 4 ฟอง เปลือกไข่สีเขียวน้ำทะเลอ่อนมีลายทั่วฟอง ขนาด 15.5*20.2มม. นกทั้งสองเพศช่วยกันทำรังฟักไข่และเลี้ยงลูกอ่อน
นกจับแมลงอกสีฟ้าเป็นนกประจำถิ่นและย้ายถิ่นหากินตามแหล่งอาหารในประเทศ พบทางภาคใต้ประเทศจีน พม่า ไทย และอินโดจีน สามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าไผ่ ตั้งแต่พื้นราบจนถึงความสูง 1020 เมตรจากระดับน้ำทะเล
สำหรับประเทศไทยเป็นนกประจำถิ่นที่พบบ่อยทางภาคเหนือ ตะวันตก ตะวันออกเฉียงเหนือในบางท้องที่ ภาคตะวันออก และเป็นนกอพยพตามแหล่งอาหารโดยพบเป็นระยะเวลาสั้นๆในช่วงต้นฤดูอพยพในเขตใกล้เคียงหรือชานเมืองกรุงเทพมหานคร ภาพในบล็อกถ่ายมาจากพุทธมณฑลเมื่อปลายเดือนกันยายน 2550 ที่ผ่านมา พบเพียง 2 วันแล้วก็จากไป




นกกะเต็นใหญ่ธรรมดา Pelargopsis capensis / Halcyon capensis(Stork-billed Kingfisher) เป็นนกกะเต็นตัวใหญ่ มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 35 เซนติเมตร หลังสีเขียว ปีกและหางสีฟ้า หัวสีเทา ปากใหญ่ตามแบบฉบับของนกกะเต็นมีสีแดงสดใสเช่นเดียวกับขาและเท้า คอและลำตัวด้านล่างมีสีน้ำตาลอมเหลือง นกทั้งสองเพศคล้ายคลึงกัน นกชนิดนี้มีทั้งหมด 15 ชนิดย่อย พบในประเทศไทย 2 ชนิดย่อยคือ H.c.burmanica ทางภาคเหนือในจังหวัดเชียงรายลงไปถึงบริเวณคอคอดกระ และ H.c. malacensisตั้งแต่คอคอดกระลงไป
นกชนิดนี้มักเกาะหาเหยื่อนิ่งๆนานๆบนกิ่งไม้ใกล้น้ำ ตอไม้ สายไฟฟ้า เมื่อพบเหยื่ออันได้แก่ปลา กบ ปู สัตว์จำพวกหนู แมลงต่างๆและลูกนก ก็จะโฉบลงมาจับ และจะฟาดเหยื่อกับกิ่งไม้หรือบริเวณที่เกาะอยู่ให้ตาย แล้วจึงกินเข้าไปทั้งตัว นกชนิดนี้หวงถิ่นมาก กระทั่งนกล่าเหยื่อตัวใหญ่ๆอย่างเหยี่ยวก็ถูกนกกะเต็นชนิดนี้ขับไล่มาแล้ว
นกกะเต็นใหญ่ธรรมดาจะทำรังโดยการขุดรูบริเวณฝั่งแม่น้ำ ลำคลอง เชิงเขา ต้นไม้ที่ผุพัง รังปลวก โดยใช้ปากกับเล็บขุดเป็นทางเข้าและเป็นโพรงข้างใน วางไข่ซึ่งมีมีลักษณะกลม สีขาว ขนาด 31.2x36.6 มม.ครั้งละ 2-5 ฟอง เมื่อวางไข่ครบทุกฟองแล้วก็จะเริ่มกกไข่ โดยนกทั้งสองเพศช่วยกันกกไข่เป็นเวลา 21-23 วัน ไข่ก็จะฟักเป็นตัว เมื่อฟักแล้วพ่อแม่นกก็จะช่วยกันหาอาหารมาป้อน 3-4 สัปดาห์ต่อมาลูกนกจะมีขนขึ้นเต็มตัว หัดบิน และทิ้งรังไป ช่วงเวลาของการทำรังวางไข่แตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาคที่พบ
นกชนิดนี้อาศัยอยู่ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ทุ่งโล่ง แหล่งน้ำ ป่าชายเลน ตั้งแต่พื้นราบจนถึงความสูง 800 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตามแหล่งน้ำจืด เกาะเล็กเกาะน้อยของประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และบอร์เนียว แม้จะมีการกระจายพันธุ์ค่อนข้างกว้างขวางแต่ก็ไม่หนาแน่น โดยจะพบได้บ่อยในบางพื้นที่เท่านั้น เช่น ภาคตะวันตกของประเทศไทย หาดโคลนในชวา ป่าโกงกางในฟิลิปปินส์เป็นต้น




นกเค้าป่าสีน้ำตาล  Strix leptogrammica ( Brown Wood Owl ) เป็นนกเค้าหัวกลมๆอีกชนิดหนึ่ง มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 47-53 เซนติเมตร สีโดยรวมเป็นสีออกน้ำตาลๆ วงหน้ามีสีน้ำตาลแกมเหลือง สีอ่อนกว่าบริเวณหัวและหน้าผากซึ่งเป็นสีน้ำตาลเข้ม มีขนสีเกือบขาวลากจากโคนปากด้านบนขึ้นไปทางหัวตาดูคล้ายคิ้ว นกทั้งสองเพศคล้ายคลึงกัน
นกชนิดนี้เป็นนกหากินกลางคืน กลางวันจะนอนหลับตามกิ่งไม้ที่มีใบรกทึบหรือในโพรงไม้ อาหารของนกชนิดนี้ได้แก่ แมลงที่หากินกลางคืนขนาดใหญ่ เช่น ผีเสื้อกลางคืน ด้วง กว่าง นกที่เกาะหลับตามกิ่งไม้ และสัตว์อื่นๆ นกจะจับกิ่งไม้สูงจ้องหาเหยื่อตามพื้นดิน เมื่อพบก็จะโฉบลงมาจับ แล้วนำไปกินบนกิ่งไม้ทั้งตัว ถ้าเหยื่อตัวใหญ่ก็จะใช้ปากฉีกกิน
เราจะพบนกเค้าป่าสีน้ำตาล อยู่โดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ตามกิ่งไม้ค่อนข้างสูงในป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบเขาตั้งแต่พื้นราบจนถึงความสูง 2590 เมตรจากระดับน้ำทะเล นกชนิดนี้จะวางไข่ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม โดยจะอาศัยโพรงธรรมชาติหรือโพรงที่สัตว์อื่นขุดไว้ หรือซอกหินบริเวณที่ลาดชันเป็นรัง ไข่จะมีลักษณะค่อนข้างกลม เปลือกไข่สีขาว ขนาด 51*46 มม. วางไข่ครอกละ1-2ฟอง เริ่มฟักตั้งแต่ออกไข่ฟองแรก ทั้งพ่อและแม่นกช่วยกันฟักไข่และเลี้ยงลูกอ่อน
นกเค้าป่าสีน้ำตาลเป็นนกประจำถิ่น ของทวีปเอเชีย โดยจะพบได้ในตอนเหนือ ตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย เนปาล ภูฐาน บังคลาเทศ ศรีลังกา ทางใต้ของจีน พม่า ไทย มาเลเซียและหมู่เกาะซุนดาใหญ่ สำหรับประเทศไทยเป็นนกประจำถิ่นที่พบไม่บ่อยนัก โดยจะพบทางภาคเหนือ ตะวันตก ภาคตะวันออกในบางพื้นที่และภาคใต้ แต่สถานที่ที่มีผู้พบบ่อยที่สุดคือบริเวณด่านสองของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่ที่ถ่ายภาพนกในบล็อกนี้มาเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา





นกกะรางหัวหงอก Garrulax leucolophus ( White-crested Laughingthrush )เป็นนกทีเห็นเพียงครั้งเดียวก็จำได้ มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 30 เซนติเมตร มีขนบนหัวสีขาวฟู คล้ายผมหงอก คอและท้องตอนบนเป็นสีขาว มีปากสีดำและมีแถบสีดำลากจากโคนปากพาดผ่านตาถึงข้างแก้ม ท้ายทอยสีเทา หลัง ไหล่ ตะโพกสีแดงอมน้ำตาล ขนหางสีน้ำตาลคล้ำๆ ลำตัวด้านล่างเลยจากท้องตอนบนเป็นสีน้ำตาลแดงอ่อนๆ นกตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน
นกชนิดนี้ชอบอยู่เป็นฝูง อาจเป็นฝูงเล็กหรือฝูงใหญ่โดยอาจเป็นฝูงของครอบครัวเดียวกัน กระโดดหากินไปเรื่อยๆตามพื้นดินหรือบนต้นไม้พร้อมกับร้องหนวกหูแทบจะตลอดเวลา อาหารของนกชนิดนี้ได้แก่ผลไม้เช่น มะเม่าเขา หว้า ไทร และแมลงจำพวกตั๊กแตน จักจั่น หนอน เป็นต้น
นกกะรางหัวหงอกทำรังวางไข่ช่วงเดือน มีนาคมถึงพฤษภาคม โดยจะเลือกทำรังบนต้นไม้ขนาดเล็กที่มีเรือนยอดเป็นทรงพุ่มเพราะมักทำรังในพุ่มนั้นเอง หรืออาจทำรังในกอไผ่ รังเป็นรูปถ้วยติดบนกิ่งหรือง่ามไม้ โดยใช้วัสดุที่มีในพื้นที่ และมักอยู่สูงจากพื้นดินไม่เกิน 6 เมตร วางไข่ครอกละ2-5ฟอง เปลือกไข่สีขาวล้วนขนาดราว28x23มม. ใช้เวลาฟักไข่ประมาณ 2 สัปดาห์ เนื่องจากเริ่มกกไข่ตั้งแต่วางไข่ฟองแรก ลูกนกจึงมีขนาดไม่เท่ากัน เมื่อออกจากไข่แล้วนกทั้งฝูงซึ่งบางตัวอาจเป็นลูกที่เกิดเมื่อปีก่อนและยังไม่ได้จับคู่จะช่วยกันหาอาหารมาป้อนลูกนก โดยอาหารของลูกนกมีทั้งหนอน แมลง และอาหารที่ย่อยแล้วที่พ่อแม่นกสำรอกออกมาให้ เมื่อมีศัตรูเข้ามาใกล้รัง นกทั้งฝูงจะช่วยกันส่งเสียงร้องขับไล่ ถ้ายังเข้ามาอีกก็จะรุมจิกตีทันที เมื่ออายุประมาณ11-12วันลูกนกก็ออกจากรังตามพ่อแม่ไปหากินได้แล้ว แต่ก็ยังรับอาหารที่นำมาป้อนอยู่ด้วย
นกชนิดนี้มีการกระจายพันธุ์ในทวีป เอเชียตอนใต้ตั้งแต่ตะวันตกของเทือกเขาหิมาลัยจนถึงจีนด้านตะวันออก และ ตั้งแต่เชิงเขาจนถึงระดับความสูง 2400 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่โดยมากจะอยู่ที่ระดับ600-1200เมตร ทางใต้ในเมียนมาร์ ไทยและอินโดจีนแต่ไม่พบในคาบสมุทรมลายู มาเลเซียและสิงคโปร์ สำหรับในประเทศไทย เป็นนกประจำถิ่นที่พบได้บ่อยในป่าดิบ ป่าโปร่ง ป่าไผ่ จากที่ราบจนถึงความสูง 1600 เมตรจากระดับน้ำทะเลในภาคตะวันตก ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในบางพื้นที่




นกเดินดงลายเสือ  Zoothera dauma (Scaly Thrush) เป็นนกเดินดงที่มีลายพร้อยไปทั้งตัวสมชื่อดูสวยแปลกตา
นกชนิดนี้มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 28 เซนติเมตร ขนคลุมลำตัวด้านบนมองดูคล้ายเกล็ดสีเขียวอมทองมีขอบเกล็ดสีดำ ขณะที่ลำตัวด้านล่างคล้ายเป็นเกล็ดสีขาวขอบเกล็ดรูปพระจันทร์เสี้ยวสีดำ หางสีน้ำตาล นกทั้งสองเพศคล้ายคลึงกัน แต่นกตัวเมียจะมีปากสีเหลืองอมน้ำตาลเข้มกว่าตัวผู้
นกเดินดงเป็นนกที่มักพบหากินแมลงหรือหนอนตามพื้นดิน หรืออาจพบหากินผลไม้สุกเล็กๆบนยอดไม้ หรือกินน้ำหวาน นกเดินดงลายเสือก็เช่นกัน เราสามารถพบนกชนิดนี้ได้ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง และป่าดงดิบเขา ที่มีต้นไม้ใหญ่ พื้นป่ามีความชื้นสูง มีมอสและเฟิร์นขึ้น สำหรับชนิดที่เป็นนกอพยพในช่วงอพยพอาจพบตามสวนสาธารณะใกล้เมือง แต่ชนิดที่เป็นนกประจำถิ่นจะพบในป่าอย่างที่กล่าวมาตั้งแต่เชิงเขาจนถึงความสูง 2565 เมตรจากระดับน้ำทะเล
เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายนเป็นช่วงฤดูทำรังวางไข่ของนกเดินดงลายเสือ นกจะทำรังด้วยมอส รากฝอย ใบไม้ใบหญ้า รองรังด้วยวัสดุนุ่ม รังเป็นรูปถ้วยอยู่ตามง่ามของไม้พุ่ม หรือต้นไม้ขนาดกลางสูงจากพื้นดินราว1-6เมตร บางรังอยู่ตามซอกโพรงหิน ริมผนังดิน ข้างทางเดินในป่าหรือซอกของรากไม้ใหญ่ วางไข่ครั้งละ3-4ฟอง นกตัวเมียเป็นฝ่ายทำรังและฟักไข่ นกทั้งสองเพศช่วยกันเลี้ยงลูก
นกเดินดงลายเสือทั่วโลกมีทั้งหมด 16 ชนิดย่อย พบในประเทศไทย 4 ชนิดย่อย แต่ละชนิดย่อยก็แตกต่างกันออกไปเล็กน้อย




นกกระติ๊ดเขียว หรือนกไผ่  Erythrura prasina (Pin-tailed Parrotfinch) เป็นนกตัวเล็กสีสวยที่ไม่ว่าใครเห็นก็ต้องชอบใจในรูปร่างเล็กน่ารักและสีสันสดใส ที่สำคัญ ไม่ใช่นกที่หาพบได้ง่ายๆ
คำว่ากระติ๊ดเขียวบอกเราว่านกชนิดนี้เป็นญาติกับนกกระติ๊ดอื่นๆที่เรารู้จัก และเป็นนกที่มีสีสันบนตัวส่วนใหญ่เป็นสีเขียว ขณะที่ชื่อ นกไผ่ บอกว่า เรามักพบนกชนิดนี้ที่ต้นไผ่ โดยเฉพาะในวันที่ ดอกไผ่บาน
นกกระติ๊ดเขียว เป็นนกกระติ๊ดที่มีความยาว จากปลายปากจรดปลายหางเพียงราว 13 เซนติเมตร นกตัวผู้ขนคลุมลำตัวด้านบนเป็นสีเขียว หน้าและคอสีน้ำเงิน ท้องสีน้ำตาลอมเหลือง ท้อง ตะโพก หาง สีแดงสด ขนหางคู่กลางยาวยื่นออกมาราว2.5-3เซ็นติเมตร นกตัวเมียสีอ่อนกว่าตัวผู้ ขนหางคู่กลางไม่ยาวยื่นออกมา
อาหารที่โปรดปราน จะเป็นเมล็ดไผ่ ขุยไผ่ แต่นกชนิดนี้ก็กินเมล็ดพืชแก่อื่นๆเช่นข้าว เมล็ดธัญพืช แมลง และตัวหนอนด้วย โดยอาจพบหากินบนต้นหรือลงหากินบนพื้นดิน นกจะหากินและรวมกลุ่มเป็นฝูงอาจถึงร้อยตัว ในเวลานอน นกก็จะไปหาที่นอนรวมกันในพุ่มไม้เตี้ยที่มองดูรกทึบจากภายนอก ไกลจากแหล่งอาหารพอสมควร และมักไม่นอนซ้ำที่เดิม
นกไผ่ทำรังวางไข่ในช่วงราว เดือนกุมภาพันธ์ถึงกันยายน ทำรังตามกอไผ่ หรือต้นไม้ขนาดเล็กเป็นทรงกลมมีรูทางออกด้านข้าง วัสดุอาจเป็นใบไผ่ ใบหญ้ามาสานกัน วางไข่ครั้งละ4-6ฟอง
เราสามารถพบนกชนิดนี้ได้ทั่วประเทศตามชายป่า ป่าชั้นรอง ป่าไผ่ ตั้งแต่พื้นราบจนถึงความสูง1500เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่ไม่ได้พบบ่อยมากนัก และเมื่อพบที่ไหนแล้วก็มักไม่ได้เจอในที่เดิมอีกนาน ทั้งนี้เป็นเพราะนกจะย้ายที่หากินไปเรื่อยๆตามแหล่งอาหาร ที่สำคัญนักดูนกมักพบนกชนิดนี้เมื่อมากินดอกไผ่-เมล็ดไผ่ และเมื่อไผ่ออกเมล็ดและตายไปแล้วก็ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยหลายสิบปีกว่าจะโตจนแก่และผลิตเมล็ดได้อีก
นอกจากประเทศไทยแล้ว นกกระติ๊ดเขียวยังเป็นนกประจำถิ่นของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศอื่นๆอีกด้วย



นกมุ่นรกตาแดง  Alcippe morrisonia ( Grey-cheeked Fulvetta) เป็นนกตัวเล็กๆ มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหาง 13-15 เซนติเมตร มีหัวสีเทา ข้างกระหม่อมมีเส้นสีดำยาวลากผ่านเหนือตาไปทางด้านหลังทั้งสองข้าง มีวงตาสีขาวอมเทา ตาสีแดง หลังสีน้ำตาลแกมเขียว ตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน นกเด็กคล้ายตัวเต็มวัย แต่มีตาสีน้ำตาล
นกชนิดนี้ถูกพบและจำแนกเป็นครั้งแรกที่ Mount Morrison ในประเทศไต้หวัน จึงได้ชื่อชนิดตามสถานที่ที่พบ ทั่วโลกมี 7 ชนิดย่อย ในประเทศไทยมี 1 ชนิดย่อยคือชนิดย่อย A.m.fraterculus พบและจำแนกครั้งแรกที่รัฐฉาน ประเทศพม่า เป็นนกประจำถิ่นที่พบได้บ่อย ปริมาณมากของไทยในภาคเหนือ ตะวันตก และตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดเลย
นกชนิดนี้มักถูกพบหากินเป็นฝูงเล็กๆ ในระดับต่ำใกล้พื้นดินนกจะมาให้เห็นทีเดียวทั้งฝูง เมื่อลงมาแล้วก็จะพากันวุ่นวายหาพลิกกินหนอนตามกิ่งไม้สักพักหนึ่ง แล้วก็บินจากไปด้วยกันทั้งหมด ความวุ่นวายก็หายตามไปด้วย เราจะพบนกชนิดนี้ได้ตามป่าดงดิบเขา ชายป่าดิบ ป่าไผ่ในพื้นที่สูง โดยมักพบที่ความสูง900เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป
ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกรกฏาคมเป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์  ทำรัง วางไข่สำหรับนกชนิดนี้ โดยนกจะทำรังเป็นรูปถ้วยตามพุ่มไม้หรือพืชคลุมดินสูงจากพื้นดินเพียง 0.2-2 เมตร วางไข่ครอกละ2-4ฟอง เปลือกไข่สีขาวถึงขาวแกมชมพู มีลายเป็นจุดสีน้ำตาลแดงถึงม่วงหรือแดงคล้ำ บางครั้งเป็นลายขีดสีส้มอมแดง ขนาดของไข่ราว14x17.8มม.



นกแขกเต้า  Psittacula alexandri (Red-beasted Parakeet) อยู่ในวงศ์นกแก้ว ซึ่งมีหัวโต ปากงุ้ม พบในประเทศไทยจำนวน 7 ชนิด 4 ชนิดมีหางยาว คือ นกแก้วโม่ง( Alexandrine Parakeet ) นกแก้วหัวแพร
 ( Blossom-headed Parakeet ) นกกะลิง (Grey-headed Parakeet ) และนกแขกเต้า (Red-breasted Parakeet) และอีก 3 ชนิดไม่มีหางยาวยื่นออกมา ชอบเกาะห้อยหัวลงจึงเรียกว่านกหก ได้แก่           
นกหกใหญ่ ( Blue-rumped Parrot ) นกหกเล็กปากแดง ( Vernal Hanging Parrot ) และ
นกหกเล็กปากดำ (
Blue-crowned Hanging Parrot)
นกแขกเต้ามีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 36 เซนติเมตร มีหัวโต คอสั้น ปากงองุ้ม ปีกยาวและแคบ หางยาว ขนหางคู่กลางยาวมากและเรียวแหลมสีเขียวอมฟ้า ขาสั้นแต่ใหญ่แข็งแรง หัวสีม่วงแกมเทา ที่หน้าผากมีเส้นสีดำลากไปจรดหัวตาทั้งสองข้าง มีแถบสีดำลากจากโคนปากลงไปสองข้างคอคล้ายเครา อกสีออกแดง ขนคลุมลำตัวส่วนที่เหลือเป็นสีเขียว นก 2 เพศแตกต่างกันตรงที่นกตัวผู้มีปากบนสีแดง อกมีสีแกมม่วง นกตัวเมียมีปากสีดำ อกมีสีชมพูอมส้มเช่นเดียวกับนกแก้วชนิดอื่น
 นกแขกเต้าทำรังในโพรงไม้ โดยเมื่อถึงฤดูหนาว นกที่จับคู่แล้วจะแยกตัวออกมาหาที่ทำรังตามโพรงไม้ธรรมชาติ หรือตามโพรงรังของสัตว์อื่น หรือโพรงรังเก่าที่เคยใช้ ทั้งสองจะช่วยกันทำความสะอาดโพรงรังจนเกลี้ยง ไม่มีการนำวัสดุมารองรัง เมื่อเรียบร้อยแล้ว นกจะวางไข่ราว3-4ฟอง เปลือกไข่ค่อนข้างกลม สีขาว ทั้งสองเพศช่วยกันฟักไข่ ใช้เวลา ราว 17-19 วันลูกนกก็ออกจากไข่ พ่อแม่นกจะขยอกอาหารออกมาจากกระเพาะพัก ซึ่งเป็นอาหารที่ย่อยแล้วบางส่วน แล้วป้อนลูกนก 3-4 สัปดาห์ต่อมาลูกนกก็จะออกจากรังโดยมีพ่อแม่ตามป้อนอีกระยะหนึ่ง ลูกนกจะอยู่รวมฝูงกับพ่อแม่ หรือรวมอยู่ในฝูงอื่น
นอกฤดูผสมพันธุ์ นกชนิดนี้จะอยู่รวมเป็นฝูง อาจเป็นหลายครอบครัวอยู่รวมกัน หากินบนต้นไม้ ห้อยตัว ใช้ปากช่วยเกาะเกี่ยว ส่งเสียงร้องสั้นๆไม่น่าฟังทั้งขณะบินและพักผ่อน นกชนิดนี้อาศัยตามป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง สวนผลไม้ ส่วนใหญ่มักพบในระดับพื้นราบ แต่ก็สามารถพบได้จนถึงระดับความสูง 1200 เมตรจากระดับน้ำทะเล อาหารของนกชนิดนี้ได้แก่ผลไม้สุก เมล็ดธัญพืช มีวิธีกินโดยบินกระพือปีกอยู่กับที่แล้วใช้ปากเด็ดข้าว หรือเมล็ดหญ้าทั้งรวงแล้วนำไปกินบนต้นไม้ ในการกินผลไม้จะใช้เท้าปลิดแล้วใช้เท้าจับไว้ก้มลงจิกกิน
เราจะพบนกชนิดนี้ ในประเทศไทยได้แทบทุกภาค เว้นภาคใต้ โดยสามารถพบได้ทั้งตามป่าเขาและแหล่งชุมชนที่มีต้นไม้สูงใหญ่ เช่น อุทยานแห่งชาติเขาสามหลั่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นต้น



นกโกโรโกโส  rpococcyx renauldi (Coral-billed Ground-Cuckoo) มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 68.5-69 เซนติเมตร มีหางยาว เฉพาะหางอย่างเดียวก็ยาว 35 เซ็นติเมตรแล้ว สีสันทั่วไปเป็นสีเทาๆทั้งตัว หัว คอและหางสีดำ มีจุดเด่นอยู่ที่บริเวณหนังรอบตาซึ่งมีสีแดงและม่วงคล้ายทาอายแชโดว์ และปากสีแดงสดใส ขาและเท้าสีแดง เป็นนกหากินตามพื้น กลางคืนบินขึ้นนอนบนกิ่งไม้ที่สูงจากพื้นดินไม่เกิน 10 เมตร นกตัวผู้และตัวเมียสีสันคล้ายคลึงกัน
นกชนิดนี้กินอาหาร พวกแมลง หนอน ปลวก ลูกไม้ป่าบางชนิดที่หล่นตามพื้น มักหลบซ่อนตัวในที่รกทึบ เมื่อตกใจจะวิ่งหนีไปซ่อนในดงไม้รก อาศัยตามป่าดงดิบแล้ง ป่าชั้นรองตั้งแต่พื้นราบจนถึง 900 เมตรจากระดับน้ำทะเล
แม้จะเป็นนกในวงศ์นกคัคคูเช่นเดียวกับแม่นกกาเหว่าซึ่งไม่ทำรังเลี้ยงลูกของตัวเอง แต่นกโกโรโกโสไม่เป็นแบบนั้น นกชนิดนี้จะทำรังและเลี้ยงลูกเอง โดยจะวางไข่ครั้งละ2-4ฟอง ทำรังบนต้นไม้
นกโกโรโกโส ป็นนกประจำถิ่นของประเทศไทย ลาว เวียตนาม กัมพูชา หาดูได้ค่อนข้างยาก อาจพบได้บ่อยในบางพื้นที่ สำหรับประเทศไทยมักพบที่ อช. เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จ.จันทบุรี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำยม จ.แพร่ เป็นต้น แต่จะมีโอกาสพบได้บ่อยที่ชายป่าหลังร้านค้าที่ผากล้วยไม้ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่




นกจาบคาเคราน้ำเงิน Nyctyornis athertoni (Blue-bearded Bee-eater) เป็นนกจาบคาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 33-37 เซ็นติเมตร มีลำตัวเพรียว คอสั้น หัวโต ปากยาวโค้งงอ ขาและนิ้วเท้าเล็กไม่เหมาะสำหรับเดินหรือกระโดด สีสันโดยรวมเป็นสีเขียว ขนบริเวณอก คอ คาง สีฟ้าค่อนข้างยาวเป็นพิเศษจึงดูคล้ายมีเคราสีฟ้าเป็นที่มาของชื่อ บริเวณท้องมีลายขีดสีเขียวจางๆขนคลุมลำตัวด้านล่างส่วนใหญ่เป็นสีเหลือง นกตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน
ในฤดูร้อน นกจาบคาเคราน้ำเงินจะเกี้ยวพาราสีโดยเกาะชิดๆกัน แผ่ขนหางเป็นรูปพัดแล้วก้มหัวลงติดๆกันเป็นเวลา 1 นาที พร้อมทั้งส่งเสียงร้อง ในบางโอกาสก็คาบเหยื่อไว้ในปากด้วย นกชนิดนี้ทำรังโดยการเจาะโพรงดินเช่นเดียวกับนกจาบคาอื่นๆ โดยเริ่มขุดโพรงก่อนวางไข่ประมาณ 1 เดือนหรือมากกว่า ในการเจาะโพรงบางครั้งนกอาจเปลี่ยนใจย้ายที่ขุดได้ บางโพรงก็ขุดสูงถึง 6-8 เมตรจากระดับพื้น บางโพรงก็เกือบจะติดดิน นกทั้งสองตัวจะสลับกันขุดโพรงรัง ในการขุดนกจะใช้ปากขุดและใช้เท้าเขี่ยดินออกมาทางด้านหลัง โพรงรังอาจมีปากโพรงกว้าง 7.5-9.5 เซ็นติเมตร และลึกได้ถึง 1.3-3 เมตร ขนานกับพื้นด้านล่าง หรือเอียงลง ปลายโพรงเป็นห้องกว้างราว 20*13เซ็นติเมตรสำหรับวางไข่และเลี้ยงลูก นกจะไม่หาวัสดุมารองรังแต่ในโพรงรังจะมีชิ้นส่วนของแมลงที่ย่อยไม่ได้ที่นกสำรอกออกมาเต็มไปหมด เพราะในระหว่างที่ยังไม่ได้วางไข่ นกจะอาศัยนอนในโพรงรังนี้ด้วย
นกจะวางไข่ครั้งละประมาณ 6 ฟองหรือน้อยกว่า เมื่อวางไข่ใหม่ๆไข่จะขาวสะอาดเป็นมัน แต่นานๆไปก็จะเลอะเทอะขึ้นและด้าน ไข่ค่อนข้างกลมมีขนาด 28.2*25.4มม. พ่อแม่นกช่วยกันกกไข่จนฟักเป็นตัว ลูกนกที่ยังไม่เต็มวัยรูปร่างหน้าตาคล้ายตัวเต็มวัย
นกจาบคาเคราน้ำเงินถูกพบครั้งแรกในอินเดีย และพบที่เชิงเขาหิมาลัย เนปาล สิกขิม ภูฐาน บังคลาเทศ พม่า จีน ไทย ลาว เขมร เวียตนาม สำหรับประเทศไทย นกชนิดนี้อาศัยในป่าผสมผลัดใบและป่าดิบแล้งบนที่ราบต่ำจนถึงป่าดิบเขาที่ความสูง 2200 เมตรจากระดับน้ำทะเล รวมทั้งป่าเต็งรัง ตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคตะวันตก ตะวันตกเฉียงเหนือของภาคอีสาน และภาคตะวันออก





นกกาฮัง หรือนกกก Buceros bicornis (great hornbill) เป็นนกเงือกที่เราคุ้นหน้าคุ้นตาที่สุดในบรรดานกเงือกทั้งหลาย
ตัวของเค้ามีขนาดประมาณ 130ซม. (จากปลายปีกจรดปลายหาง)นับเป็นนกที่ตัวใหญ่มาก เวลาที่เค้าบินผ่าน เราจะรู้สึกวูบบบบ วูบบบบบ ตามจังหวะที่เค้าขยับปีกได้เลย
นกตัวผู้ มีขนาดใหญ่ กว่าตัวเมีย ปากขนาดใหญ่ ปากล่างสีเหลืองอ่อน ปากบนสีเหลืองสด ปลายปากสีเหลืองอมส้ม ด้านบนมีโหนกซึ่งข้างใน เป็น โพรง ไม่แข็งตันอย่างนกชนหิน โหนกของนกกก สีเหลือง นกกกตัวผู้ตาสีแดง รอบตาสีดำ ด้านหน้าของโหนกมีสีดำ หางสี ขาว มีแถบ กว้างสีดำพาดตอนกลางค่อนไปทางด้านล่างของหาง ขนคลุมลำตัวส่วนใหญ่สีดำ ขนคลุมคอและท้ายทอย สีเหลืองอ่อน ส่วนใต้คอ สีจะอ่อนกว่า จนเกือบขาว ในฤดูผสมพันธุ์นกตัวผู้จะมีขน ที่คอสีเหลืองสด ใบหน้ามีแถบสีดำ พาดผ่านตาลงมาถึง โคนปาก แถบสีดำนี้ นกตัวผู้จะมีแถบกว้างกว่านกตัวเมีย โหนกแข็งขนาดใหญ่แต่กลวง ด้านบนแบน หรือนูนเล็กน้อย โหนกส่วนบนของ นกตัวผู้ ด้านหน้าจะแหลมกว่าโหนกบนของนกตัวเมีย มีสีดำที่ด้านหน้าและด้านหลัง ของโหนก ปีกสีดำ มีแถบสีขาวพาดบนขนปีกบินชั้นนอก และ มีสีขาวที่ปลายขนปีก บินชั้นที่สอง ทำให้เมื่อนกคลี่ปีกบิน เราจะสังเกตเห็นแถบกว้าง สีขาวขอบ เหลือง ที่ขนคลุมปีกชั้นรอง และ ปลายปีกมีสีขาว หางสีขาวมีแถบสีดำอยู่เกือบถึงปลายหาง ปลายหางขาว
นกตัวเมีย สีสันคล้ายนกตัวผู้ แต่ขนาดลำตัวเล็กกว่า ไม่มีสีดำที่ด้านหน้าของโหนกบนหัว ด้านหน้าของโหนก จะทู่กว่าของตัวผู้ และ ไม่มีสีดำที่ด้านหน้าและด้านท้ายของโหนก เหมือนนกตัวผู้ , ตาสีขาว รอบตาสีแดง มีแถบสีดำขนาดเล็กกว่า ของตัวผู้ พาดผ่านตั้งแต่ด้านท้ายของโหนก ลงไปถึงโคนปากล่าง




นกแว่นตาขาวสีทอง  Zosterops palpebrosus (oriental hite-eye) เป็นนกที่มีขนาดเล็กมากเพียง 11 ซม.เท่านั้น จุดเด่นของเค้าคือ มีวงรอบตาสีขาว ปากสีดำ สั้น และแหลม หัวและหลังมีสีเหลืองอมเขียว คอสีเหลือง และแนวสีเหลืองจากคอจะพาดผ่านท้องลงไปจนถึงบริเวณขนคลุมใต้หาง ท้องมีสีเทาอ่อนๆ
โดยปกตินกแว่นตาขาวจะหากินเป็นฝูงใหญ่ประมาณ10-20 ตัวโดยอาจร่วมหากินไปกับนกที่กินแมลงอื่นๆ นกแว่นตาขาวจะมุดหาแมลงหรือ หนอน ตามเปลือกไม้ใบไม้ ไม่ค่อยพบบินโฉบจับแมลงอย่างนกจับแมลง
นอกจากแมลงแล้ว น้ำหวานจากดอกไม้ และน้ำหวานจากผลไม้สุกก็เป็นอาหารที่โปรดปราน โดยปลายลิ้นของนกแว่นตาขาวมีลักษณะคล้ายแปรง เมื่อใช้ปากยื่นเข้าไปในดอกไม้ที่มีน้ำหวาน หรือใช้ปากเจาะที่โคนดอกก็ตาม แล้วเค้าจะใช้ลิ้นที่มีปลายพิเศษนี้ดูดซับน้ำหวานจากดอกไม้ เช่นดอกของต้นพญาเสือโคร่งที่ดอยอินทนนท์ มีผู้พบเห็นว่าไปแวะเวียนกินน้ำหวานทุกๆปี เช่นเดียวกับผลไม้สุกต่างๆที่เค้าจะใช้ลิ้นพิเศษนี้ทำอย่างเดียวกัน
นกแว่นตาขาวมีแหล่งกระจายพันธุ์บริเวณ ป่าโกงกางริมอ่าวไทย (ที่ศูนย์อนุรักษ์ฯที่มหาชัยมีเยอะทีเดียว ถ้าไปเป็นต้องเจอเป็นฝูงใหญ่ บินเจี๊ยวจ๊าวไปหมด) ตามชายฝั่งทะเลทั้ง 2 ฝั่งทางภาคใต้ ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยในแต่ละที่อาจเป็นสายพันธุ์ย่อยแตกต่างกันไปเล็กน้อย สำหรับภาพที่ถ่ายมา มาจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เมื่อร้อน (แล้ง)ที่ผ่านมา




นกสาลิกาเขียว  Cissa chinensis ( green magpie) เป็นนกที่อยู่ในวงศ์เดียวกับกา แต่เป็นกาขนสี ไม่ใช่กาขนดำ เพื่อนๆของเค้าได้แก่ นกขุนแผน (blue magpie) นกกะลิงเขียด ( rufous treepie) โดยกาขนสีนี้จะมีขนาดเล็กกว่ากาที่มีขนสีดำ
นกสาลิกาเขียวมีขนาด ประมาณ 38 ซม. มีปากยาว หนาสีแดงสด หัวโต ลำตัวอวบหนา ปีกกว้าง สั้น และ หางยาว(มักยาวกว่าภาพประกอบ) ขนปกคลุมลำตัว ส่วนใหญ่สีเขียวสด หน้าและกระหม่อมสีเขียวอมเหลือง ขนบริเวณกระหม่อมช่วงหลังและท้ายทอยจะยาวฟูออกมาเล็กน้อย ตาใหญ่และมีวงรอบตาสีแดงสด ม่านตาสีน้ำตาลไปจนถึงแดง หัวตาสีดำและมีแถบยาวหนาสีดำลากต่อผ่านตาไปจนถึงท้ายทอย ปีกสีน้ำตาลแดงสด ขนปลายปีกและปีกด้านหลังสีดำ ขนกลางปีกด้านในมีสีดำและส่วนปลายสีขาว เวลาที่นกหุบปีกจะมองดูเห็นเป็นลายดำสลับขาวอยู่ตรงกลางหลัง ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่ใช้แยกนกชนิดนี้จากนกสาลิกาเขียวหางสั้น( eastern green magpie)ซึ่งไม่มีลายนี้
เวลาบินจะเห็นปีกสีน้ำตาลแดงตัดกับลำตัวสีเขียวสดหางยาวสีเขียวสด โดยขนหางคู่กลางยื่นยาวออกไปมากกว่าและช่วงปลายมีสีเขียวอ่อน ส่วนขนหางด้านล่างมีสีขาวสลับด้วยสีดำตอนปลาย ขาสีส้มสดไปจนถึงสีแดงสด ลำตัวสีเขียวค่อนข้างคล้ำ โคนหางด้านล่างสีขาว
อย่างไรก็ตามสีเขียวของนกสาลิกาเขียวอาจเปลี่ยนเป็นสีฟ้าได้ในบางโอกาส เพราะเม็ดสีในขนนกสาลิกาเขียวสามารถเปลี่ยนสีจากจากสีเขียว เหลือง และ แดง ไปเป็นสีฟ้า ขาว และ น้ำตาล ได้ตามลำดับ แต่ก็พบไม่บ่อยนัก เท่าที่พบคือจะเปลี่ยนจากสีฟ้าทั้งตัว หรือบางส่วน
นกสาลิกาเขียวเป็นนกที่มีอยู่ค่อนข้างมาก พบได้ตามป่าทั่วไป เช่น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว แต่อาจมองเห็นตัวได้ยาก เพราะสีกลมกลืนกับใบไม้และชอบหากินอยู่ในพุ่มที่รกทึบ
นกสาลิกาเขียวเป็นนกที่อาศัย ตามป่าดงดิบและ ป่าเบญจพรรณจากที่ราบจนถึงความสูง 1800 เมตร อาหารเป็นพวกหนอน แมลง ตัวอ่อนและไข่ของแมลง ที่พบตามพื้นป่า ผลไม้สุกบางชนิดที่ร่วงหล่นตามพื้น สัตว์เลื้อยคลาน ขนาดเล็ก ไข่นกและลูกนก กระรอกขนาดเล็ก จิ้งจก ตุ๊กแกป่าตัวเล็กๆ
นกชนิดนี้เริ่มทำรังวางไข่ในช่วง เดือนเมษายนถึง พฤษภาคม โดยเค้าจะแยกจากกลุ่มเล็กๆของตัวเองออกมาจับคู่ตามลำพัง ทำรังตามง่ามไม้ภายในทรงพุ่มของไม้ที่มีใบดกทึบ สูงจากพื้นประมาณ 4 - 5 เมตร โดยใช้กิ่งไม้มาสานกันเป็นรูปกระจาดแบนหยาบๆ อาจประกอบด้วยกิ่งไผ่ รากไม้ และ ใบไม้มาสานกันหยาบๆ รองพื้นรัง รังจะมีขอบด้านหนึ่งสูงกว่าอีกด้านหนึ่ง บางครั้งทำรังในกอไผ่ด้านที่ติดที่โล่งหรือเป็นทางด่านสัตว์ วางไข่ ครั้งละ 3 - 7 ฟอง ส่วนมากพบ 5 ฟอง เปลือกไข่พื้นสีเขียวอ่อน สีเนื้อ ไปจนถึงสีขาว และ มีจุดประสีน้ำตาล และสีเทากระจายอยู่ พ่อแม่นกจะช่วยกันกกไข่ ใช้เวลาราว 17 - 19 วันไข่จะฟักเป็นตัว




นกอีแจว  Hydrophasianus chirurgus (Pheasant-tailed Jacana) ได้ชื่อว่าเป็นราชินีนกน้ำเพราะรูปร่างหน้าตาที่สวยงามโดยเฉพาะในชุดขนฤดูผสมพันธุ์
นกชนิดนี้ได้ชื่อไทยว่าอีแจวเพราะเมื่อนกตัวเมียวางไข่แล้วก็จะแจวจากไปหาคู่ใหม่ และปล่อยให้นกตัวผู้กกไข่และเลี้ยงลูกไปตามลำพัง หรือจะได้ชื่อนี้มาจากเสียงร้องแจ๊วๆ แจวๆก็ไม่แน่ใจ เพราะฟังแล้วน่าเชื่อถือทั้งคู่ (แม้ว่าฝรั่งจะได้ยินนกชนิดนี้ร้องเหมือนแมวร้องแบบโกรธๆก็ตาม)
ความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ31เซ็นติเมตร นกตัวเมียตัวโตกว่านกตัวผู้เล็กน้อย แต่ไม่มีความแตกต่างในชุดขนทำให้จำแนกได้ยากเมื่อเห็นทีละตัวในธรรมชาติ
ในแต่ละปีนกจะมีช่วงผลัดขนหนึ่งครั้ง และในช่วงนี้นกอีแจวจะไม่สามารถบินได้ การหลบหนีศัตรูต้องใช้การว่ายน้ำ ดำน้ำและหลบซ่อนตัวเท่านั้น
นกอีแจวทำรังวางไข่บนพืชลอยน้ำในบึงซึ่งเป็นแหล่งอาศัยในช่วงฤดูฝน การแสดงบทบาทในเรื่องนี้ของนกในวงศ์นกพริก(Jacanidae)ถือว่ากลับกันกับสัตว์ชนิดอื่นๆ กล่าวคือนกตัวผู้ทำรัง ดูแลรัง กกไข่และเลี้ยงลูก ขณะที่นกตัวเมียซึ่งตัวโตกว่า ก้าวร้าวกว่าเป็นผู้ปกป้องรัง ปกป้องคู่หรือปกป้องอาณาเขต
เมื่อนกอีแจวตัวเมียวางไข่ซึ่งมีประมาณครอกละ4ฟองแล้วก็จะไปจับคู่กับนกตัวผู้ตัวใหม่เพื่อวางไข่ครอกต่อไป ขณะที่นกตัวผู้เจ้าของผลงานก้มหน้าก้มตากกไข่เป็นเวลายี่สิบสองถึงยี่สิบแปดวันโดยนกตัวเมียจะคอยช่วยปกป้องดูแล เมื่อลูกนกฟักเป็นตัวแล้วก็จะเลี้ยงลูกเป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว อย่างไรก็ตาม การที่นกตัวเมียจับคู่กับนกตัวผู้ทีละหลายตัวก็ทำให้นกตัวผู้ที่ฟักไข่และดูแลลูกอาจจะกำลังดูแลลูกที่ไม่ใช่ผลผลิตของตัวเองก็เป็นได้
ลูกนกอีแจวแรกเกิดมีขนอ่อนนุ่มแบบลูกเจี๊ยบ มีสีสันที่เหมาะกับการพรางตัว มีเท้าใหญ่โตเหมือนพ่อแม่ เกิดมาก็เดินและว่ายน้ำดำน้ำได้เลย พ่อนกจะสอนให้ลูกเดินหาอาหารและหลบศัตรู มีผู้พบว่าลูกนกอีแจวสามารถดำน้ำหลบศัตรูได้โดยโผล่มาแต่ปลายปากนิดๆที่มีรูสำหรับหายใจ
อาหารของนกชนิดนี้คือแมลงเล็กๆหรือเมล็ดพืชที่จับและจิกกินได้ตามผิวน้ำและตามกอพืชน้ำในบึง ด้วยนิ้วเท้ายาวเก้งก้างตามแบบฉบับของนกน้ำทำให้นกอีแจวเดินบนพืชลอยน้ำได้อย่างสบาย หากจะหล่นก็กระพือปีกช่วยได้ นอกจากนี้นกอีแจวว่ายน้ำได้คล่อง และบินได้ดีพอสมควร
นกชนิดนี้มีการกระจายถิ่นใน ปากีสถาน เนปาล อินเดีย ศรีลังกา จนถึงพม่า ตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ไต้หวัน ลงใต้ไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คามสมุทรมลายู บอร์เนียวใต้และฟิลิปปินส์ จำนวนเล็กน้อยเดินทางลงใต้ไปยังเกาะสุมาตราและชวาหรือไปทางตะวันตกสู่โอมานและเยเมนในช่วงฤดูหนาว สำหรับที่ไต้หวันนกชนิดนี้กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
นกอีแจวส่วนใหญ่เป็นนกที่อยู่ประจำถิ่นแต่ก็มีบางส่วนจากจีนตอนใต้และเทือกเขาหิมาลัยอพยพลงมายังคาบสมุทรอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
สำหรับประเทศไทย นกอีแจวมีทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ โดยสามารถพบได้บ่อยในบางพื้นที่เช่นบึงบอระเพ็ดจังหวัดนครสวรรค์ หรือตามบึงบัว บ่อปลาสลิด ทุ่งนาที่มีน้ำท่วม




นกอัญชันคิ้วขาว ( White-browed Crake )
ลักษณะ  ป็นนกอัญชันขนาดเล็ก มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 19-21.5 เซนติเมตร มีจุดเด่นอยู่ที่แถบสีขาวคล้ายคิ้วและแถบสีขาวที่มุมปากถึงข้างแก้มตัดกับ หน้าสีเทาและแถบตาสีดำ ปากสีเหลือง บริเวณโคนปากสีแดง หัวและอกสีเทา คอและท้องสีเทาปนขาว ท้องด้านล่างไปจนถึงก้นสีน้ำตาลแกมเหลือง ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแกมเหลือง มีลายเกล็ดสีน้ำตาลดำขาและเท้าเหลืองแกมเขียว นกทั้งสองเพศคล้ายคลึงกัน
แหล่งที่พบ  เขตห้ามล่าสัตว์ป่า คลองลำซาน
อาหาร ของนกชนิดนี้ได้แก่เมล็ดของพืชน้ำ แมลง ไข่แมลง สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเล็กๆที่หาพบได้ตามกอพืชรกๆหรือชายน้ำในแหล่งน้ำที่ อาศัย โดยนกจะเดินจิกกินไปเรื่อยๆพร้อมกับกระดกหางขึ้นๆลงๆ
นกชนิดนี้หากินตามหนอง บึง ทะเลสาบ พื้นที่ชุ่มน้ำต่างๆที่มีพืชลอยน้ำปกคลุมหนาแน่นในพื้นที่ราบ
นกอัญชันคิ้วขาวมีการกระจายพันธุ์ในประเทศ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไนไทย ลาว เขมร เวียตนาม ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น และประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิคอื่นๆเช่น ฟิจิ หมู่เกาะโซโลมอน เป็นต้นโดยบางประเทศก็พบมาก บางประเทศก็มีรายงานการพบน้อยมาก




นกอีแพรดแถบอกดำ  (Pied fantail) เป็นนกขนาดเล็ก ลำตัวยาว ประมาณ 18 เซนติเมตร สีตัวส่วนใหญ่เมื่อมองในระยะไกลจะ เห็นเป็นสีขาวสลับดำเช่นเดียวกับนกกางเขนบ้าน แต่เมื่อดูให้ละเอียดแล้วจะเห็นว่าแตกต่างกัน นกอีแพรดจะมีสีตัวด้านบนเป็นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำตลอด หัวถึงหาง ยกเว้นคิ้วและขนปลายหางซึ่งขลิบด้วยสีขาว ด้านท้องเป็นสีขาว มีแถบสีดำขนาดใหญ่คาดใต้อก เป็นนกประจำถิ่นที่พบได้บ่อยมากทั่วประเทศ นอกจากนั้นยังเป็นนกที่พบได้ในประเทศพม่า กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สุมาตรา ชวา บอร์เนียว บาหลีและฟิลิปปินส์
นกอีแพรดเป็นนกที่ชอบอาศัยอยู่ตามสนามหญ้าในบริเวณบ้านเรือน และบริเวณใกล้เคียง ตามแหล่งชุมชนและตามสวนสาธารณะ เป็นนกที่ขยัน มาก จะได้ยินเสียงร้องสดใสตั้งแต่เช้าตรู่ บางครั้งร้องรับกันเป็นคู่ๆ เป็นเวลา นานๆ ช่วยให้บรรยากาศตอนเช้าสดใสขึ้นมาก นกอีแพรดจะออกหากิน ตั้งแต่เช้า หากินอยู่ตามสนามหญ้าและในพุ่มไม้ทั้งในระดับกลางและ ระดับล่าง นานๆ ครั้งจึงจะบินออกมาโฉบแมลงในอากาศสักครั้งหนึ่ง การบิน ของนกอีแพรดเป็นไปอย่างสวยงามมาก ดูตัวเบาและพริ้วไหวเหมือน ใบไม้ที่กำลังร่วงและปลิวไปในอากาศ ขณะที่กำลังหากินอยู่บนสนามหญ้า หรืออยู่ในระหว่างพุ่มไม้นั้น มันจะไม่หยุดนิ่ง จะขยับปีก ขยับตัว กระโดด หมุนตัวและส่ายหัวอยู่ตลอดเวลา ในขณะเดียวกันก็จะแพนหางโดยการ คลี่ออกและหุบเข้าอย่างรวดเร็วจนแทบดูไม่ทัน มองเห็นแต่แถบขาวที่ ปลายหาง ซึ่งคลี่ออกและหุบเข้าคล้ายพัดดูเป็นที่สวยงามเหมือนตุ๊กตา นกเต้นระบำอยู่บนสนามหญ้า
นกอีแพรดเป็นนกที่กินแมลงเป็นอาหาร ชอบออกหากินในตอนเช้า และตอนเย็นอยู่ตามสนามหญ้าและตามพุ่มไม้ พบหากินอยู่ตัวเดียวหรือ เป็นคู่ เป็นนกที่มีความคุ้นเคยกับมนุษย์มาก จะปรากฏตัวให้เห็นอยู่เสมอ เป็นเวลานานๆ แม้จะเดินเข้าไปใกล้ในระยะหนึ่งก็จะไม่ตกใจบินหนีไป ตอน กลางวันแดดร้อนจัดจะเข้าไปพักผ่อนหรือหากินอยู่ตามพุ่มไม้ บางวันจะ ลงมาอาบน้ำในอ่างเช่นเดียวกับนกกางเขนบ้านและนกกระจอกบ้าน
เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม นกก็จะ เริ่มจับคู่เพื่อการผสมพันธุ์ ในช่วงนี้จะพบนกนี้อยู่ด้วยกันเป็นคู่ๆ และบินตาม กันไปตลอดเวลา มันจะสร้างรังอยู่ตามง่ามของกิ่งไม้โล่งๆ ที่อยู่ไม่สูงมากนัก สูงจากพื้นดินประมาณ 1-2 เมตร รังมีลักษณะเป็นรูปกรวยเล็กๆ ทำด้วย ใบหญ้าและใยพืชพันด้วยใยแมงมุมโดยรอบเพื่อให้รังหนาแน่น วางไข่ครั้งละ 2 ฟอง ไข่เป็นสีครีมมีจุดสีเทาและสีน้ำตาลอยู่ทั่วไป ทั้งพ่อและแม่นกจะ ชวนกันกกไข่และเลี้ยงลูก โดยใช้เวลาฟักไข่ประมาณ 12-13 วัน ในระยะกกไข่และเลี้ยงลูกนี้พ่อและแม่นกจะหวงรังมาก ถ้ามีมนุษย์หรือสัตว์อื่น เข้ามามันจะเข้ามาจิกตีขับไล่ไปให้พ้นรังของมัน




นกสีชมพูสวน Dicaeum cruentatum ( Scarlet-backed Flowerpecker) เป็นนกกาฝาก 1 ใน 11 ชนิดที่พบในประเทศไทย มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางเพียง ประมาณ 9 เซนติเมตร ตัวผู้ ตัวเมีย และตัวไม่เต็มวัย มีความแตกต่างทางด้านสีสันชัดเจนมาก กล่าวคือ ตัวผู้จะมีลำตัวด้านล่างสีขาว ด้านข้างของอก หน้าและหางสีดำ ปีกสีดำเหลือบน้ำเงิน มีแถบกว้างสีแดงจากโคนปากด้านบน หัว ท้ายทอย หลัง ตะโพกไปจนถึงขนคลุมหางด้านบน สะดุดตา ปาก ขา เล็บเป็นสีดำ
ลักษณะ นกตัวเมียมีสีทั้งตัวเป็นสีน้ำตาลแกมเทา เว้นแต่ขนคลุมตะโพกและโคนหางเป็นสีแดง ส่วนนกวัยเด็กคล้ายนกตัวเมีย แต่มีสีออกเหลืองอมส้มที่ตะโพกและโคนหาง มีปากสีส้ม ปลายปากดำ
นกชนิดนี้เป็นนกที่ ไม่อยู่นิ่งมักบินไปมาหากินอยู่บนยอดไม้ระดับสูง ทำให้มองเห็นตัวได้ค่อนข้างยาก แต่บ่อยครั้งก็มาเกาะสายไฟข้างถนนให้ดูเล่นๆเสียอย่างนั้น เป็นนกที่คนที่รู้จักมักได้ยินเสียงดังมาก่อนตัวเช่นเดียวกับนกตีทอง (Coppersmith Barbet) ซึ่งมักส่งเสียงร้องออกจากลำคอว่า กุ๊ก กุ๊ก กุ๊ก แต่สำหรับนกสีชมพูสวนจะร้อง ตึ๊ก ตึ๊ก ตึ๊ก เป็นจังหวะกระชั้น ออกแนวเมทัลลิกนิดๆ ซึ่งถ้าเราเข้าไปในบริเวณที่นกอยู่ จะได้ยินเสียงมาก่อน จึงจะหาตัวเจอ
ต้นไม้ที่นกชนิดนี้ชอบไปหากิน คือต้นไม้ที่มีต้นกาฝากเกาะอาศัยอยู่หนาแน่น อย่างต้นพู่นายพลต้นนี้มีต้นกาฝากซึ่งกำลังออกดอกพราว บ้างก็กลายเป็นผลแล้ว นกสีชมพูสวนคู่หนึ่งพาลูกนกมาหากินที่นี่ทุกวัน โดยนกจะอาศัยมุดหัวลงไปกินทั้งน้ำหวานจากดอกกาฝาก จนหัวเลอะเทอะไปด้วยละอองเกสรและอาศัยเด็ดกินผลกาฝาก โดยการเด็ดมาทั้งผล ใช้ปากที่แข็งแรงบีบผลตามแนวขวางจนเมล็ดข้างในที่มีสารกลูโคสเคลือบอยู่ผลุบออกมา และใช้ความชำนาญขยับผลจนด้านที่เมล็ดออกมาหันเข้ามาทางปาก และกินเข้าไป ทิ้งเปลือกให้หล่นลงบนพื้น เมล็ดของกาฝากนี้มียางเหนียวเคลือบอยู่ เมื่อนกกินเมล็ดเข้าไปและถ่ายออกมา เมล็ดก็จะติดอยู่กับกิ่งก้านของต้นไม้ใหญ่ เมื่อได้โอกาสเหมาะสมก็แทงรากเข้าดูดกินน้ำเลี้ยงของต้นไม้ใหญ่และเจริญเติบโตต่อไป
อาหารของนกชนิดนี้ ก็ไม่ได้มีแค่ผลกาฝากและน้ำหวานจากดอกของกาฝากเท่านั้น แต่ยังมีแมลง แมงมุม ลูกไม้เล็กสุกอื่นๆเช่นลูกตะขบ ลูกไทร และน้ำหวานจากดอกไม้ชนิดอื่นด้วย
ในประเทศไทย นกชนิดนี้มักจะทำรังวางไข่ ช่วงเดือน มกราคมถึงเมษายน ทั้งคู่ช่วยกันทำรัง แต่ตัวเมียจะทำมากกว่า ลักษณะของรังคล้ายกระเป๋าสตางค์ห้อยลงมาจากกิ่งไม้ที่มีใบ มีทางเข้าออกเล็กๆพอให้ตัวนกเล็กๆเข้าออกได้อยู่ด้านบน ทำจากหญ้าแห้ง และรากฝอยแห้งๆ รัดเข้าด้วยกันด้วยใยแมงมุม รองรังด้วยเยื่อใยนุ่มๆ รังหาค่อนข้างยากเพราะห้อยติดปลายกิ่งไม้ที่มีใบบังมิดชิดในสวนผลไม้ ชอบทำรังบนต้นไม้สกุลมะม่วง วางไข่ครั้งละ2-3ฟอง ขนาด 14 มม.x 10.3 มม. ตัวเมียกกไข่ โดยมีตัวผู้เกาะให้กำลังใจข้างๆ
นกสีชมพูสวนเป็นนกประจำถิ่นที่พบได้ง่ายมากๆ กระจายพันธุ์ทั่วประเทศไทย พบได้ตั้งแต่ตามสวนสาธารณะ หมู่บ้านที่พอจะมีต้นไม้ใหญ่ ป่าโปร่ง ป่าละเมาะ สวนผลไม้ และอาจพบได้ตามไหล่เขาที่ระดับความสูงถึง 1200 เมตรทีเดียว




นกอีโก้ง    Purple Swamphen (Purple Gallinue)  ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Porphyrio porphyrio 
ลักษณะทั่วไป
     เป็นนกน้ำขนาดเล็ก - กลาง ความยาวลำตัว 43 เซนติเมตร นกอีโก้งเพศผู้และเพศเมียมีลักษณะเหมือนกัน หัวเป็นสีทองอมน้ำเงิน ลำตัวด้านบนสีน้ำเงินอมม่วง ใต้คางและอกสีน้ำเงินอมเขียว ท้องและสีข้างสีน้ำเงินอมม่วง ต้นขาสีน้ำเงินอมเขียว หัว ไหล่ และขนปีกสีน้ำเงินอมเขียว นัยน์ตาสีแดง จะงอยปาก และแผ่นที่หน้าผากสีแดง ขาและนิ้วเท้ายาวมาก และมีสีแดงอมน้ำตาล
ถิ่นอาศัย, อาหาร
     พบตั้งแต่ในยุโรป แอฟริกา อินเดีย จีน ลังกา พม่า พบได้ทั่วประเทศไทยมีชุกชมในภาคกลาง ลาว เวียตนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไปจนถึงออสเตรเลีย
     นกอีโก้งกินทั้งพืชและสัตว์ กินพืชน้ำ เมล็ดพืช ผลไม้ หอย แมลงต่าง ๆ รวมทั้งชอบขโมยไข่นกอื่นและลูกนกกินด้วย
พฤติกรรม, การสืบพันธุ์
     ชอบอาศัยอยู่ตามสระน้ำ หนองน้ำ โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ซึ่งมีพืชน้ำขึ้นอยู่ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ ใช้เวลาส่วนใหญ่หลบซ่อนตัวอยู่ตามดงกกหรือกอหญ้านั่นเอง นกอีโก้งออกหากินโดยเดินตามริมน้ำโดยเดินช้า ๆ เวลาเดินเมื่อยกเท้านิ้วทั้งหมดจะงอเข้าหากัน และเมื่อก้าวขาลงนิ้วเท้าจะแผ่กระจายออกจากกัน หางที่สั้นของมันจะกระดกทุกครั้งที่ก้าวขา ถ้าถูกรบกวนจะวิ่งหนีไปบนพื้นน้ำโดยขยับปีกช่วยกัน ทำให้ขาของมันไม่จมน้ำ จะบินหนีก็ต่อเมื่ออยู่ในอันตรายจริง ๆ เท่านั้น เป็นนกที่บินไม่เก่ง เมื่อบินไปพบกอหญ้าที่รกทึบ จะบินลงไปซ่อนตัวอยู่เงียบ ๆ ในนั้นจนอันตรายผ่านไป แต่เป็นนกว่ายน้ำได้เร็วและเก่งมาก
     นกอีโก้งผสมพันธุ์ปลายฤดูฝน รังสร้างบนพื้นดินริมฝั่งน้ำใหญ่ ทำขึ้นจากลำต้นของพืชน้ำที่อยู่รอบ ๆ รัง โดยมันจิกถอนออกมาทำรัง ออกไข่ชุดละ 3 - 4 ฟอง ทั้งคู่ช่วยกันทำรังและฟักไข่ซึ่งกินเวลานาน 28 วัน ลูกนกมีขนปุยสีดำอมน้ำเงิน ลูกยังอยู่ในรัง 2 - 3 วันก่อนลงน้ำ
สถานภาพปัจจุบัน  นกอีโก้งเป็นนกประจำถิ่น พบได้บ่อย และปริมาณปานกลาง จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
สถานที่ชม  สวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์สงขลา 




นกตีทอง  Coppersmith Barbet   ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Megalaima haemacephala 
ทั่วไปลักษณะ  นกตีทองเป็นนกจำพวกนกโพระดกขนาดเล็กที่สุด มีขนาดลำตัวประมาณ 16 เซนติเมตร ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน ขนด้านบนตัวมีสีเขียวสด หน้าอกมีแถบสีแดง และด้านใต้ตัวมีลายสีเขียวขนาดเล็ก คอเป็นสีเหลือง รอบตามีสีเหลืองและบนหัวมีแถบสีแดง ปากมีสีดำและมีขนแข็ง นกโตไม่เต็มวัยไม่มีสีแดงที่หน้าผาก
ถิ่นอาศัย, อาหาร
     พบในทวีปเอเชียแถบประเทศปากีสถาน จีน สุมาตรา ฟิลิปปินส์และในประเทศไทยพบอยู่ทุกภาค
     นกตีทองชอบกินเมล็ดพืช ผลไม้และแมลงบางชนิดเป็นอาหาร
พฤติกรรม, การสืบพันธุ์   ชอบอาศัยอยู่ตามป่าโปร่งตามเรือกสวนใกล้หมู่บ้าน มักอยู่แต่เฉพาะบนต้นไม้ ไม่ลงมาบนพื้นดิน ส่งเสียงร้องคล้ายเสียงค้อนเคาะโลหะซ้ำๆ ดัง "ต๊ง ต๊ง"
     นกตีทองทำรังอยู่ตามโพรงไม้ วางไข่ครั้งละ 4-5 ฟอง และช่วยกันกกไข่ทั้งตัวผู้และตัวเมีย
สถานภาพปัจจุบัน   เป็นนกประจำถิ่นที่พบได้ง่ายทั่วประเทศ จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
สถานที่ชม  สวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์สงขลา




นกตะขาบทุ่ง  Indian Roller ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Coracias benghalensis
ลักษณะทั่วไป นกตะขาบทุ่งเป็นนกขนาดกลาง มีขนาดลำตัวประมาณ 33 เซนติเมตร ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะเหมือนกัน ขนบนกระหม่อมมีสีเขียวแกมฟ้า เหลือง และน้ำตาล บริเวณคอ ไหล่ อก และหลังเป็นสีน้ำตาลแกมเขียว ปีกสีน้ำเงินแกมม่วง หางมีสีฟ้าคาดด้วยแถบสีน้ำเงิน บริเวณใต้ท้องและปีกเมื่อบินจะเห็นสีฟ้าสดแกมเขียว ปากหนาเรียวปลายแหลม และคอสั้น
ถิ่นอาศัย, อาหาร พบในทวีปเอเชียแถบประเทศอินเดีย จีน อินโดจีน และในประเทศไทยพบอยู่ทั่วทุกภาค ยกเว้นทางตอนใต้ของภาคใต้ พบได้ที่ความสูงมากว่าหรือประมาณ 1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล นกตะขาบทุ่งกินทั้งแมลง หนอน ไส้เดือน ลูกกบ เขียด สัตว์เลือยคลาน และสัตว์เล็กๆ เป็นอาหาร
พฤติกรรม, การสืบพันธุ์  ชอบอาศัยตามท้องนา ทุ่งหญ้า ป่าโปร่ง และบริเวณใกล้แหล่งกสิกรรม หรือหมู่บ้าน มักหากินอยู่ตามลำพัง แต่อยู่เป็นคู่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ชอบเกาะอยู่นิ่งบนกิ่งไม้ และลงหากินตามพื้นดิน ชอบร้องเสียงดัง "ต้า ต้า"
นกตะขาบทุ่งผสมพันธุ์ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ทำรังบนต้นไม้บริเวณโพรงไม้ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในบางครั้งจะแย่งรังหรือโพรงเก่าของนกอื่นเพื่อวางไข่ ตัวเมียวางไข่ครั้งละ 2-5 ฟอง
สถานภาพปัจจุบัน เป็นนกประจำถิ่นที่พบได้บ่อยมากทั่วประเทศ จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535




นกเด้าลมดง  Dendronanthus indicus (Forest Wagtail) เป็นหนึ่งในห้าของนกเด้าลม(Wagtail)ที่พบได้ในช่วงฤดูอพยพในประเทศไทย นกในเหล่านกเด้าลม(Wagtails)เป็นนกตัวไม่ใหญ่ ความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว18-19เซ็นติเมตร รูปร่างเพรียว หางยาวและมักกระดกแทบจะตลอดเวลาจึงเป็นที่มาของชื่อสามัญทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เป็นนกกินแมลง
นกเด้าลมดงมีรูปร่าง เหมือนกับนกเด้าลมอื่นๆ มีหัวและหลังสีน้ำตาลอมเขียว มีแถบคาดหน้าอกสีดำสองแถบ แถบบนกว้างกว่าแถบล่าง ลำตัวด้านล่างสีขาว มีแถบปีกสองแถบ หางที่ยาวแกว่งไปทางข้างๆซ้ายขวา ไม่ได้แกว่งขึ้นลงแบบนกเด้าลมชนิดอื่น
นกชนิดนี้ทำรังวางไข่ ทางตะวันออกของทวีปเอเชีย จากไซบีเรียจนถึงตอนเหนือของจีน โดยรังจะถูกสร้างเป็นรูปถ้วยบนต้นไม้ และวางไข่ครั้งละราว 5 ฟอง นอกฤดูผสมพันธุ์ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาวนกจะอพยพลงมาด้านล่าง พบตั้งแต่ประเทศอินเดียจนถึงอินโดนีเซีย นกที่พบในไทยอาจเป็นนกที่มาอยู่ในเมืองไทยในฤดูหนาว หรืออาจเป็นนกที่เดินทางผ่านประเทศไทยลงใต้ไปอีก
เราจะพบนกเด้าลมดงในที่ ที่แตกต่างจากนกเด้าลมอื่นๆคือพบได้ตามป่า สวน พื้นที่เกษตรกรรมและป่าชายเลน จากที่ราบจนถึงความสูงราว 1500เมตรจากระดับน้ำทะเล ในขณะที่นกเด้าลมอื่นๆมักพบตามที่ใกล้กับแหล่งน้ำ